สนข.เตรียมเสนอแผนพัฒนาท่าเรือบกเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาคในปลายปี 61

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 23, 2018 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานเปิดการสัมมนาประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคว่า การดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา Dry Port เพื่อกำหนดแนวทางเศรษฐกิจการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนา Dry Port ให้ชัดเจนและครอบคลุมทั่วประเทศ และสามารถเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสินค้าของประเทศเพื่อนบ้านผ่านประตูการค้าหลัก (ท่าเรือแหลมฉบัง) นำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังถือเป็นประตูการค้าหลักของประเทศ มีปริมาณตู้สินค้าผ่านเข้า-ออกท่าเรือเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังและโครงข่ายเชื่อมโยง แม้ว่าจะมีสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือไอซีดี ลาดกระบัง แต่ด้วยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเต็มความจุ ส่งผลให้การจราจรโดยรอบไอซีดี ลาดกระบัง มีปริมาณหนาแน่นเช่นเดียวกับบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง

และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการ และการลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้าปลอดอากร สถานีขนส่งสินค้า ท่าเรือบก ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor : NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor : EWEC) และฐานการผลิตทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไปยังประตูการค้าหลักและด่านการค้าสำคัญของประเทศ

สนข.ได้ตั้งงบประมาณปี 2561 ดำเนินการศึกษาเป็นเวลา 8 เดือน (มี.ค.-พ.ย. 61) เมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้เป็นแผนในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยขณะนี้เป็นช่วงเริ่มต้นโครงการจะมีการเก็บรวบรวมข้อมูล แนวคิดต่างๆ สภาพพื้นที่ แหล่งผลิตด้านอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ปริมาณความต้องการ ข้อมูลด้านการขนส่ง กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยด้านการค้า การเพื่อคัดเลือกพื้น มูลค่าการลงทุนและรูปแบบการลงทุน วิธีการบริหารจัดการ ซึ่งเบื้องต้นเนื่องจากมูลค่าลงทุนสูง คาดว่าจะเป็นการร่วมทุนรัฐกับเอกชน (PPP)

โดยการดำเนินงานโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา Dry Port เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค ประกอบด้วย 4 ส่วนงาน ได้แก่ 1. การศึกษาข้อมูลด้านเทคนิค เป็นการศึกษาทบทวนนโยบายและแผนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแผนพัฒนาท่าเรือบกตามแนวทางของ UNESCAP ศึกษาการดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้อง และศึกษารวบรวมข้อมูล Best Practice ในการพัฒนา Dry Port ในต่างประเทศ

2.การศึกษาข้อมูลด้านข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา Dry Port และศึกษากฎ ระเบียบของไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Dry Port

3. การกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา Dry Port และการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนา Dry Port

4. การวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนา Dry Port รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนา Dry Port ในพื้นที่ที่มีลำคับความสำคัญสูงสุด ตลอดจนจัดทำ แผนแม่บทการพัฒนา Dry Port


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ