ธปท.สั่งแบงก์พาณิชย์ระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อห่วงหนี้เน่ามากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday April 27, 2008 12:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ช่วงไตรมาสแรกของปีอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยทั้งระบบมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน 31.4% หรือมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 26,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 28% ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน
ทั้งนี้มีสาเหตุจากการขยายตัวสินเชื่อซึ่งสูงถึง 7.3อ% โดยสินเชื่อโครงการและสินเชื่อหมุนเวียนเดือนก.
พ.เพิ่มขึ้นถึง 26% และ 11%ตามลำดับ
ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากความสามารถทำกำไรที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ และภาระการกันสำรองหนี้NPL ในช่วงไตรมาสนี้ปรับลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน
รองผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อัตราการขยายตัวสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในระยะต่อไปอาจเติบโตขึ้นไม่มาก เทียบกับไตรมาสแรกปีนี้ซึ่งขยายตัวได้สูงถึง 7.3% เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการอนุมติสินเชื่อมากขึ้น ตามภาวะรายจ่ายและค่าครองชีพของประชาชนที่สูงในปัจจุบัน
ขณะที่รายได้กลับทรงตัว ซึ่งกระทบต่อความสามารถการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ลดลงจนก่อตัวเป็นปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)กระทบต่อเสถียรภาพของฐานะธนาคารพาณิชย์
"การแข่งขันจะเป็นปัจจัยช่วยการเติบโตของสินเชื่อ แต่แบงก์ชาติพูดเสมอว่าอยากให้แบงก์รักษา
คุณภาพสินเชื่อเพื่อไม่ให้ปัญหาNPLเร่งตัวขึ้นแต่ ก็เชื่อว่าNPLจะทยอยลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี"นาย
บัณฑิตกล่าวและว่า
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีNPL คงค้างทั้งสิ้น 244,463 ล้านบาทคิดเป็น 4.09% ของสินเชื่อรวม เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน 11,997 ล้านบาทหรือ 5.16% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งNPLรายใหม่และNPLที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้(Re-Entry)ตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเป็นห่วง แม้ว่าระดับNPLที่ยังไม่หักการกันสำรองเทียบกับสินเชื่อรวมในไตรมาสนี้จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.8% จาก 7.3% ในไตรมาส 4 ปี 2550 ก็ตาม
ทั้งนี้ตามรายงานตัวเลขNPLของธปท.ช่วงเดียวกันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่พบการเร่งตัวขึ้นโดยธนาคารกรุงเทพมีNPL 37,315 ล้านบาท เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,925 ล้านบาท หรือ 8.5% ธนาคารกรุงไทย 72,308 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 4,817 ล้านบาทหรือ 7.13% ธนาคารกสิกรไทย 18,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาทหรือ 19.28% ธนาคารไทยธนาคาร 4,053 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 496 ล้านบาทหรือ 13.94% และธนาคารนครหลวงไทย 9,173 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,210 ล้านบาทหรือ 15.19%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ