กฟผ.เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรงช่วงปี 62-73 กำลังผลิตรวม7.2 พันMW

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 21, 2010 12:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ อารยะสกุล รองผู้ว่าการพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิตไฟฟ้า หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 9 โรง ตั้งแต่ปี 2562-2573 กำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 7,200 เมกะวัตต์ โดยพื้นที่เป้าหมายคาดว่าจะอยู่ในจังหวัดที่อยู่ติดทะเล เช่น ชุมพร สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว (พีดีพี 2010) ซึ่งตามแผนพีดีพี กฟผ. จะต้องเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในเดือนมิถุนายน 2562ในเดือนมิถุนายน ปี 2564 สร้างโรงที่ 2 เดือนมกราคม 2566 สร้างโรงที่ 3 เดือนมกราคม 2569 สร้างโรงที่ 4 และ 5 เดือนมกราคม 2571 สร้างโรงที่ 6 และ 7 เดือนมกราคม 2572 สร้างโรงที่ 8 และเดือนมกราคม 2573 สร้างโรงที่ 9

โดยเห็นว่าในอนาคตโรงไฟฟ้าถ่านหินจะต้องถูกสร้างขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่สูงขึ้น ประกอบกับเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในอนาคตจะมีน้อยลง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงขึ้นในระบบ อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.จะสร้างขึ้นเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะมีการลงทุนสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินปกติ แต่เพื่อลดการต่อต้านการก่อสร้างจึงมีความจำเป็นต้องลงทุน โดยได้มีการศึกษาแล้วพบว่าแม้จะลงทุนในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งยังถูกกว่าการใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น และอาจจะถูกกว่าก๊าซฯ และน้ำมัน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร

นอกจากนี้ กฟผ.ยังมองว่าจะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นในประเทศ เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชนิดอื่น โดยตามแผนพีดีพีจะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 5,000 เมกะวัตต์ โดยจะก่อสร้างโรงแรกในเดือนมกราคม 2563 เครื่องที่ 2 ในเดือนมกราคม 2564 เครื่องที่ 3 ในเดือนมกราคม 2567 เครื่องที่ 4 ในเดือนมกราคม 2568 และเครื่องที่ 5 ในเดือนมกราคม 2571

สำหรับแผนการรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และการที่โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) 2 โรง ของ บริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ และของบริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 600 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 สองจะก่อสร้างใน จ.ฉะเชิงเทรา อาจจะต้องเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ทำให้ต้องเลื่อนระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าไปอย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งตามแผนจะเข้าประมาณปี 2556 และจะทำให้ในช่วงปี 2557-2558 สำรองไฟฟ้าในระบบลดลงเหลือ 9%

กฟผ.ได้เตรียมแผนที่จะเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ 2 และโรงไฟฟ้าวังน้อย 4 กำลังการผลิตโรงละ 800 เมกะวัตต์ ให้สามารถเข้าระบบได้ในปลายปี 2556 หรือต้นปี 2557 แต่เกรงว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาดใหญ่จะอยู่ใน 18 ประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำลังจะประกาศออกมา

กฟผ.ได้หารือกับกระทรวงพลังงานแล้วยื่นเรื่องไปที่นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณานำโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ออกจากประเภทโครงการที่ส่งผลกระทบดังกล่าว และได้ชี้แจงไปที่คณะกรรมการเพื่อการแก้ไขปัญหามาบตาพุดตามมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้ว เพื่อให้โรงไฟฟ้าทั้งสองสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วขึ้น แต่หากต้องติดอยู่ใน 18 ประเภทกิจการ ก็อาจจะทำให้การก่อสร้างต้องล่าช้าออกไปและไม่ทันต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านการใช้ไฟฟ้าที่น่าเป็นห่วงมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ