Xinhua's Interview: ผู้เชี่ยวชาญชี้ชาวออสซี่ตกเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของแฮกเกอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2015 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการเจาะข้อมูลรายหนึ่งเปิดเผยว่า ชาวออสเตรเลียกำลังตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ที่มีความเชี่ยวชาญ

Norton บริษัทด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยในรายงาน Cybersecurity Insights Report เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า ชาวออสเตรเลียเกือบ 4 ล้านรายถูกเจาะข้อมูลส่วนตัวบนระบบออนไลน์ในปี 2558 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลียเป็นเงินถึง 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ซูเล็ต เดรฟัส อาจารย์จาก Melbourne University ซึ่งเป็นนักวิจัยชาวออสเตรเลีย-อเมริกันที่มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์และการเจาะข้อมูล ได้ดำเนินการวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าว พร้อมเผยกลวิธีที่เหล่าอาชญากรไซเบอร์ใช้เพื่อเจาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้เคราะห์ร้าย

เดรฟัส ได้ชี้ให้เห็นถึงมัลแวร์ประเภทหนึ่งที่กำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วอย่างมัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware) ซึ่งเหล่าอาชญากรใช้เพื่อล็อคข้อมูลส่วนบุคคลและเรียกค่าไถ่จากผู้เคราะห์ร้าย โดยมัลแวร์เรียกค่าไถ่นี้คิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในหกของอาชญากรรมการกรรโชกบนระบบออนไลน์ที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวออสเตรเลีย

เดรฟัส กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "ออสเตรเลียเป็นเป้าหมายอันดับ 1 ของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 8 ของโลก ซึ่งถือว่าสูงมาก"

เธอกล่าวว่า "อีกสิ่งหนึ่งที่รายงานดังกล่าวไม่ได้พูดถึง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของอาชญากรไซเบอร์ ได้แก่การพูดถึงแวดวงมัลแวร์ใต้ดินที่มีศักยภาพในการเข้าถึงกล้องบนมือถือ"

"ดูเหมือนว่าอาชญากรเหล่านี้ถ่ายภาพของผู้เคราะห์ร้ายพร้อมเรียกร้องค่าไถ่เพื่อไม่ให้ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป" ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าว "ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการล็อคข้อมูล แต่เป็นเรื่องของการแอบเก็บข้อมูลเพื่อกรรโชกทรัพย์"

รายงานดังกล่าวได้ดำเนินการสำรวจผู้ใช้อุปกรณ์มือถือจำนวน 17,125 รายจาก 17 ประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา และเมื่อพิจารณาจากตัวเลขเหล่านี้แล้วคาดว่าผู้คนราว 594 ล้านคนทั่วโลกได้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรออนไลน์

จากผู้ใช้งานออนไลน์ 594 ล้านคนที่ว่านี้ มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการโจรกรรมเอกลักษณ์ 348 ล้านคดี

Norton เปิดเผยว่า อาชญากรรมออนไลน์สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกราว 1.075 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในแต่ละปี

เดรฟัส ซึ่งทำงานอยู่ที่ฝ่ายระบบคอมพิวเตอร์และข้อมูลของ Melbourne University ชี้ว่า ผู้ใช้งานจำเป็นต้องจริงจังกับมาตรการรักษาความปลอดภัยออนไลน์ของตนมากขึ้น เนื่องจากการกรรโชกทรัพย์ออนไลน์มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เธอกล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า "การป้องกันภัยขั้นแรกได้แก่การหมั่นอัพเดทซอฟต์แวร์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ"

สำหรับข้อความอัพเดทน่ารำคาญที่โผล่ขึ้นมากลางจอ ซึ่งทำให้หลายๆคนรู้สึกรำคาญนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือกดคลิกคำว่า "ใช่" และหมั่นตรวจสอบการอัพเดทโปรแกรมเป็นประจำทุกวัน

เธอกล่าวว่า "หากละเลยการอัพเดทระบบแล้วก็จะถูกเจาะข้อมูลได้โดยง่าย"

นอกจากนี้ เดรฟัสยังแนะนำให้ตั้งรหัสผ่านที่ "ปลอดภัยและเดายาก" สำหรับบัญชีออนไลน์ทุกรายการ โดยเลี่ยงใช้รหัสผ่านที่ประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัวที่ผู้อื่นรับรู้ เช่น "ชื่อของสามี ชื่อของสุนัข หรือวันเกิดของลูก"

เดรฟัสแนะนำให้ผู้ใช้งานระบบออนไลน์ลองใช้ระบบ Multi-factor authentication (MFA) ซึ่งจำเป็นต้องมีการระบุข้อมูลพิสูจน์ตัวตนในหลายๆชั้นก่อนล็อคอิน เพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรไซเบอร์เข้าถึง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ