Xinhua's Interview: IMF ชี้เศรษฐกิจจีนเติบโตแข็งแกร่งหนุนจีนบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปและลดความเสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 17, 2017 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเจมส์ แดเนียล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกิจการจีนประจำ IMF กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การที่เศรษฐกิจจีนได้รับแรงผลักดันให้ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งนั้น จะช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งในระยะกลางและระยะยาว

"เศรษฐกิจที่ได้รับแรงขับเคลื่อนอย่างแข็งแกร่งนั้น จะช่วยเร่งกระบวนการปฏิรูปของจีน และในขณะนี้เป็นเวลาที่ดีที่จีนจะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว" นายแดเนียลกล่าว

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.9% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.5%

นายแดนเนียล ซึ่งเข้าทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกิจการจีนประจำ IMF เมื่อเดือนมิ.ย. เพื่อดำเนินการทบทวนรายงาน Article IV ประจำปีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนนั้น กล่าวว่า IMF ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและระดับหนี้สินของจีนในช่วง 3 ปีข้างหน้า และได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงเกี่ยวกับหนี้สินของจีน

"ความเสี่ยงเหล่านี้จะต้องได้รับการแก้ไข หากจีนต้องการรักษาอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งเอาไว้ โดยจีนจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้โดยลดการพึ่งพาสินเชื่อ ลดการพึ่งพาหนี้สิน และลดการพึ่งพาการลงทุน" เขากล่าว

นายแดเนียลยังกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปในหลายๆด้านที่จีนกำลังดำเนินการอยู่นั้น มาถูกทางแล้ว พร้อมระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และการกำหนดขอบเขตในการปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นนั้น มีความคืบหน้าด้วยดี

ทั้งนี้ นายแดเนียลได้แสดงความพอใจที่จีนมุ่งเน้นการปรับลดความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพการเงิน และวางแผนที่จะสร้างเสถียรภาพด้านการเงินแบบใหม่ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาภายใต้การควบคุมของสภาแห่งรัฐ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการกำกับดูแลด้านการเงิน

นายแดเนียลเชื่อว่า ทางการจีนเข้าใจถึงความสำคัญของการนำประโยชน์จากการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ มาช่วยสนับสนุนการปฏิรูปที่จำเป็น โดยนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว จีนได้มุ่งเน้นที่จะจัดการกับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน เมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น

เจ้าหน้าที่ IMF รายนี้ยังกล่าวด้วยว่า การควบคุมความเสี่ยงในภาคการเงินถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และการที่จีนจะรับมือกับปัญหาหนี้สินนั้น จีนต้องให้ความสนใจในภาคส่วนอื่นๆของระบบเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลจีนยังมีภารกิจอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งดำเนินการ

ในด้านความเสี่ยงของสินเชื่อภาคเอกชนนั้น นายแดเนียลตั้งข้อสังเกตว่า อัตราการขยายตัวของหนี้สินภาคเอกชนเริ่มปรับตัวลดลงเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าในการปรับลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และจากการที่รัฐบาลได้ริเริ่มปรับโครงสร้าง นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวตามวัฏจักรของการค้าและราคาผู้ผลิต

นายแดเนียลกล่าวว่า จีนยังคงลดการปล่อยกู้ในภาคเอกชน และหันไปพึ่งพากลไกตลาดมากขึ้น ด้วยการจัดสรรเงินกู้ให้กับบริษัทที่นำเงินกู้ไปให้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดงบดุลในเดือนก.ย. หรืออาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในเดือนธ.ค.นั้น แต่แดเนียลไม่คิดว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจจีน โดยระบุว่า แรงกดดันอันเนื่องมาจากกระแสเงินทุนไหลออกนั้น ได้บรรเทาลงแล้วในปีนี้

อย่างไรก็ตาม แดนเนียลเตือนว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเหนือความคาดหมายนั้น อาจส่งผลให้จีนขาดทุนในระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และท้ายที่สุดจะกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง

"แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เราเชื่อว่าความเสี่ยงจะมีไม่มากนัก และเราคิดว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนในปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก" แดเนียลกล่าว พร้อมระบุว่า การที่จีนมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้น จะช่วยให้จีนสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ได้

ข้อมูลจากธนาคารกลางจีนระบุว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเดือนก.ค.พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.081 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6

นอกจากนี้ แดเนียลกล่าวว่า IMF ได้หารือกับทางการจีนเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยเขาได้สนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายหาทางแก้ปัญหาการค้าโลก ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

บทสัมภาษณ์โดย เกา ปัง และ จิน หมินหมิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ