Analysis: นักวิเคราะห์คาดอัตราดอกเบี้ยจีนปรับตัวลงต่อเนื่องในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 26, 2014 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มีการคาดการณ์กันว่าจีนจะเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักในการรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางแนวโน้มชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ปรับตัวลงในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้นโยบายการเงินต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ

การเผชิญกับแรงกดดันดังกล่าวทำให้เชื่อว่าจีนน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้ปัจจัยเสี่ยงทางการเงินบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ

เมื่อมองในภาพรวมแล้ว จีนยังมีช่องทางผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกในปี 2558 และคาดว่าสภาพคล่องในประเทศจะยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก

-- นโยบายการเงินยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

แถลงการณ์การประชุม Central Economic Work Conference ของจีน ซึ่งกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสำหรับปีหน้า ได้เรียกร้องให้มีการรักษาสมดุลระหว่างการสร้างเสถียรภาพในการเติบโต และการปรับโครงสร้าง

บรรดานักวิเคราะห์เห็นพ้องกันว่า นโยบายการเงินจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจในปีหน้า เมื่อพิจารณาถึงเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแรงและอัตราเงินเฟ้อต่ำในปัจจุบัน

เอชเอสบีซี โฮลดิงส์ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นของจีนในเดือนธ.ค.ลดลงแตะ 49.5 ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จาก 50.0 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างการหดตัวและขยายตัว

เหลียน ปิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ กล่าวว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตอยู่ในทิศทางขาลงมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 57 ซึ่งบ่งชี้ว่าการขยายตัวของภาคการผลิตนั้นเริ่มชะลอตัวลงเรื่อยๆ จนก่อให้เกิดแรงกดดันมากขึ้นต่อเศรษฐกิจ

ส่วนนายฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี ระบุในแถลงการณ์ว่า ภาคการผลิตยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือนธ.ค. และบ่งชี้ถึงภาวะอ่อนแรงในช่วงสิ้นปีนี้ ขณะที่แรงกดดันด้านเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น เป็นตัวสะท้อนถึงอุปสงค์ที่ซบเซา และจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้มีการผ่อนคลายทางการเงินต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้น 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในเดือนพ.ย. ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 5 ปี

เหล่านักสังเกตการณ์ตลาดคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อผู้บริโภคจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2558 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาค้าส่งของโรงงาน จะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากอุปสงค์อ่อนแอ

เหวิน ปิน หัวหน้านักวิจัยที่ไชน่า หมินเซิง แบงกิ้ง คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนจะขยายตัว 7% เทียบรายปีในปี 2558

-- นโยบายการเงินซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยแท้จริง

ที่ประชุม Central Economic Working Conference ระบุว่า จีนควรดำเนินนโยบายการคลังเชิงรุกให้มากขึ้นในปี 2558 ส่วนนโยบายการเงินแบบระมัดระวังควรเน้นไปที่การรักษาสมดุลระหว่างความเข้มงวดและการผ่อนคลาย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีนจะไม่ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ในปี 2558 แต่จะมีการปรับรูปแบบในช่วงเวลาที่เหมาะสม และการลดอัตราดอกเบี้ยแท้จริงจะเป็นภารกิจหลัก

ทางด้านนายเฉิน เจียนเหิง นักวิเคราะห์อัตราดอกเบี้ยจากไชน่า อินเทอร์เนชั่นแนล แคปิตอล คอร์ปอเรชั่น (CICC) กล่าวว่า ภาวะทางการเงินตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 นั้นค่อนข้างตึงตัวกว่าในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลง

นายเฉินกล่าวเสริมว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะจำกัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค การลงทุนของภาคธุรกิจ และเป็นปัจจัยถ่วงการขยายตัว โดยเศรษฐกิจไม่น่าจะขยายตัวได้อย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ หากไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแท้จริง

ในปี 2557 ธนาคารกลางจีนได้ใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอันหลากหลาย เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะมีสภาพคล่องเพียงพอในตลาด ซึ่งรวมถึงการปรับลด RRR แบบจำกัดวง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมยังคงเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง

ในขณะเดียวกัน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันเป็นเหตุให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันไป โดยนายเหวินชี้ว่า เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดในจีน นโยบายการเงินของจีนจึงควรเน้นไปที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสัดส่วนกันสำรอง (RRR) สำหรับเงินฝาก

แม้ว่าตลาดคาดการณ์กันเป็นวงกว้างว่าทางธนาคารกลางจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน แต่ตลาดก็ไม่ได้มีการตอบสนองเพิ่มเติมแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย โดยนายเฉิน เจียนกวง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมิซูโฮะ ซิเคียวริตีส์ เผยว่า การเดินหน้าขึ้นของตลาดหุ้นจีนเมื่อไม่นานมานี้อาจทำให้การประกาศลด RRR ต้องเลื่อนออกไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีโอกาสที่จีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงิน

เงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นน่าวิตกสำหรับจีนอีกต่อไปนับตั้งแต่ปี 2557 ในทางกลับกัน ภาวะเงินฝืดในภาคอุตสาหกรรมกลับเป็นเริ่มน่าเป็นห่วง โดยดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน (PPI) ได้ปรับตัวลดลง 33 เดือนติดต่อกัน หลังอุปสงค์จีนชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งนี่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทางธนาคารกลางผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน

-- เงินดอลลาร์อาจกลายเป็น “หงส์ดำ" แห่งสภาพคล่อง

สภาพคล่องภายในประเทศของจีนจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วงในปี 2558 ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนคลาย อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องอาจเกิดการตึงตัวในบางช่วงเวลาจากปัจจัยผันผวนภายนอก

แนวโน้มที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะกลายเป็น "หงส์ดำ" นั้น ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของจีน เนื่องจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงจีน จะได้รับแรงสั่นสะเทือนหากเกิดเหตุดังกล่าว

ดัชนีดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มปี 2557 โดยแข็งค่าขึ้นกว่า 11% จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างหนัก และส่งผลสืบเนื่องให้กระแสเงินทุนไหลเข้าชะลอลง

ในปี 2558 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวแตะ 3.1% จากระดับ 2.2% ดังนั้นตลาดหุ้นสหรัฐจึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวคึกคัก นอกจากนี้ สหรัฐยังเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2558 อีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม จีนได้เข้าสู่วงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไปจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องในปี 2558 เมื่อพิจารณาจากปัจจัยข้างต้น จีนน่าจะได้รับแรงกดดันด้านกระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น

CICC มองว่าโพสิชั่นการซื้อเงินตราต่างประเทศที่ลดลงอาจจะกระตุ้นให้มีการออกสกุลเงินหลักมากขึ้น ซิ่งจะเพิ่มความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน อีกทั้งเป็นการปรับทิศทางนโยบายการเงินให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม เงินหยวนไม่น่าจะอ่อนค่าลงมากเหมือนสกุลเงินประเทศอื่นๆ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีพื้นฐานแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การอ่อนค่าเล็กน้อยของเงินหยวนเทียบดอลลาร์จะไม่เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของจีน สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ