Analysis: นักวิเคราะห์ยุโรปชี้การปฏิรูปศก.จีนจะเอื้อประโยชน์ต่อทั่วโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2015 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ระดับแนวหน้าของยุโรปได้กล่าวแสดงความเห็นว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนและการริเริ่มการพัฒนาในระดับภูมิภาคที่กำลังดำเนินอยู่นี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจจีนและทั่วโลก

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน กล่าวในการประชุมเศรษฐกิจโลก (WEF) ประจำปี ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น จะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง (hard landing)

แดเนียล กรอส ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานโยบายยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ เปิดเผยกับซินหัวว่า ในระหว่างที่เศรษฐกิจจีนมีการปรับเปลี่ยนและยกระดับขึ้นนั้น "ความเสี่ยงเพียงอย่างเดียวสำหรับจีนคือภาวะการชะลอตัว แต่คาดว่าจีนจะสามารถเอาชนะปัญหานี้ได้"

นายกรอส ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรปกล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจจีนเอื้อประโยชน์ต่อทั่วโลกอยู่ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือ ทุกคนต่างได้ประโยชน์หากจีนขยายตัวอย่างแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะหากการขยายตัวเป็นการปรับสมดุลจากการลงทุนและการส่งออก ไปสู่การบริโภค และประการที่สองคือ จะเป็นการทำให้ตลาดกลายเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าด้วย" นายกรอสกล่าว

ด้านเฟรดริก เอริซอน ผู้อำนวยการ European Centre for International Political Economy (ECIPE) สถาบันด้านเศรษฐกิจระดับโลกในบรัสเซลส์กล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งเปิดกว้างต่อการแข่งขันและนวัตกรรมมากขึ้นนั้น คือกุญแจสำคัญสู่การพัฒนาของจีน

"จีนอาจเพิ่มมิติใหม่สู่ความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลก ด้วยการยึดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ที่อาจพลิกแนวโน้มการขยายตัวของประเทศ" นายเอริซอนกล่าว

การริเริ่มด้านการลงทุน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการผสานนโยบายการเงินและการคลังเข้าด้วย และด้วยการลงทุนในระยะยาว เช่นในอุตสาหกรรมสาธารณูปโภค

นอกจากนี้ จีนยังส่งเสริมความคิดริเริ่มต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย เขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม (Silk Road Economic Zone), เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road), ธนาคารเพื่อการพัฒนาโดยกลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้), ธนาคารเพื่อการลงทุนในสาธารณูปโภคเอเชีย ที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจัดหาเงินทุนในการลงทุนภาครัฐทั่วโลก และไปสู่ผลสำเร็จที่ทุกฝ่ายต่างได้รับประโยชน์

นายกรอสแสดงความเห็นต่อความริเริ่มเหล่านี้ว่า จีนควรแยกแยะระหว่างการขับเคลื่อนการลงทุนภายใน และการระดมทุนของการลงทุนในต่างประเทศ

"การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศมีประโยชน์ในการรักษาอุปสงค์และการจ้างงานในระยะสั้น แต่ก็มีผลเล็กน้อยในการจัดการภาวะอุปสงค์ภายในประเทศขาดตอน ซึ่งเห็นได้จากอัตราการออมในประเทศ (ไม่ใช่แค่ภาคครัวเรือน) ที่ปรับตัวสูงมากอย่างต่อเนื่อง"

ความพยายามของจีนที่จะลงทุนในภาคสาธารณะทั่วโลกนั้น ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม แต่การลงทุนในลักษณะดังกล่าวนี้จะมีขนาดเล็กกว่าการลงทุนภายในประเทศอย่างมาก เพราะประเทศอื่นๆ มีปัญหาในการดูดซับเงินทุนต่างประเทศ นายกรอสกล่าว

ด้านนายเอริซอนแสดงความเห็นว่า ความริเริ่มดังกล่าวจะช่วยผลักดันการขยายตัว "การลงทุนใหม่ๆ ที่รวมกับการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ผลทวีคูณยิ่งกว่า"

เมื่อกล่าวถึงนโยบายการค้าจีน ผู้อำนวยการ ECIPE กล่าวว่า ความพยายามของจีนที่จะกระตุ้นการร่วมกลุ่มทางการค้าระดับภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญ

การเจรจาทางการค้าของจีนกับสหรัฐ หรือสหภาพยุโรปอาจอยู่ไม่ไกลนัก ซึ่งทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศดำเนินไปเร็วขึ้น

เงินทุนจีนที่ไหลสู่ต่างประเทศ

นายเอริซอนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการไหลออกของเงินทุนจีนว่า ตลาดโลกได้เห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทสัญชาติจีน

ทั้งนี้ บางภาคส่วนมีความอ่อนไหวในบางประเทศ โดยเฉพาะภาคสาธารณูโภคพื้นฐาน และภาคส่วนต่างๆที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ประเทศที่ต้องการปกป้องภาคส่วนดังกล่าวต่อจีน กำลังค่อยๆ ลดจำนวนลง

นายเอริซอนกล่าวว่า จีนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสภาวะที่ดีขึ้นสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดน ด้วยการปล่อยให้มีการแข่งขันมากขึ้นระหว่างนักลงทุนจีนที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศ และด้วยการปฏิรูปการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งจะช่วยให้ชาติอื่นเข้าใจการทำงานของบริษัทในจีนง่ายยิ่งขึ้น

นวัตกรรม

นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองได้แสดงมุมมองในเชิงลึกว่า เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวโดยมีการนวัตกรรมเป็นปัจจัยหนุน หากรัฐบาลจีนผลักดันมาตรการเพื่อการสนับสนุนด้านนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต

นายเอริซอนกล่าวว่า นอกจากการเพิ่มขอบเขตการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจแล้ว จีนอาจเร่งการใช้นวัตกรรมนำการขยายตัวด้วยการศึกษา

"ประสบการณ์ของหลายประเทศคือ การลงทุนในความพร้อมเพื่อยอมรับนวัตกรรมต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ฉลาดกว่าการลงทุนในความสามารถเพื่อสร้างนวัตกรรม"

นอกจากนี้ นายกรอสกล่าวว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการเปิดทางให้ภาคเอกชนเข้ามาดูแลในด้านนวัตกรรม เพราะจริงๆแล้ว ภาครัฐนั้นแทบจะไม่มีแหล่งทรัพยากรทางนวัตกรรมเลย

บทวิเคราะห์โดย ฉ่วย หรง สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ