Analysis: นักวิเคราะห์คาดแบงก์,บ.อสังหาฯ,เกษตรกรได้อานิสงส์มากสุดหลังจีนหั่น RRR

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2015 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์คาดว่า การอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีนผ่านการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงมากเกินคาดครั้งล่าสุดนี้ จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ภาคธนาคาร ภาคที่อยู่อาศัย และเกษตรกรรม

ธนาคารกลางจีนได้ปรับลด RRR ลง 1% โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวานนี้ ซึ่งนับเป็นการปรับลด RRR ลงเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ และเป็นการปรับลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2551 เมื่อเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า การปรับลด RRR ดังกล่าวจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินราว 1.2 ล้านล้านหยวน (1.96 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากสถาบันการเงินต่างๆได้รับอนุญาตให้สำรองเงินในปริมาณที่น้อยลง

โซซิเอเต เจเนอราล ระบุในรายงานวิจัยฉบับหนึ่งว่า นโยบายดังกล่าวอาจช่วยผ่อนคลายภาวะตึงตัวด้านสภาพคล่องสำหรับธนาคารต่างๆ ซึ่งหลายแห่งได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับการลดลงของปริมาณเม็ดเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้

เนื่องจากการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (IPO) และการปรับตัวที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สภาพคล่องจึงได้สะพัดออกจากระบบการธนาคารและตลาดพันธบัตร ไปสู่หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ข้ามคืน Shanghai Interbank Offered Rate (Shibor) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคารนั้น ได้พุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะตึงตัวทางการเงินในระบบการธนาคาร

นายฟาน เจี้ยนผิง นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์สารนิเทศแห่งรัฐของจีน กล่าวว่า การปรับลด RRR หมายความว่า เม็ดเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะต่ำลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกลุ่มผู้พัฒนาที่อยู่อาศัยในท้ายที่สุด

“การปล่อยเงินกู้จำนองที่ง่ายขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง จะกระตุ้นการซื้อบ้าน ดังนั้นกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดแคลนเงินทุนก็จะมีสภาพคล่อง" นายฟานกล่าว โดยเสริมว่า การลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้น เมื่อยอดขายบ้านปรับตัวดีขึ้น

การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในจีนขยายตัว 8.5% ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งชะลอตัวลงอย่างมาก หลังจากที่พุ่งขึ้น 16.8% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลงที่รุนแรงขึ้น และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นแรงผลักดันการขยายตัวที่สำคัญนั้น ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยถ่วงที่สำคัญในขณะนี้

นอกเหนือจากการปรับลด RRR ดังกล่าวแล้ว ธนาคารกลางจีนยังได้ปรับลด RRR ลง 2% สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้แก่ภาคเกษตรกรรม และลดลง 2% สำหรับธนาคารอากริคัลเจอรัล ดีเวลลอปเมนท์ แบงก์ ออฟ ไชน่า

นายลู่ เหล่ย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การลด RRR ซึ่งแตกต่างไปจากการผ่อนคลายนโยบายการคลังนั้น จะส่งผลดีต่อเกษตรกรในทางอ้อม และส่งสัญญาณถึงนโยบายที่อิงกับตลาด สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ