Analysis: ผลประชามติกรีซเป็นชัยชนะส่วนตัวของ“ซิปราส" แต่ส่งผลเสียต่อศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 7, 2015 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากชาวกรีซโหวต ‘No’ อย่างท่วมท้นในการลงประชามติครั้งประวัติศาสตร์นั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างมีความระมัดระวังการตีความของผู้นำยุโรปเกี่ยวกับผลประชามติ ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดครั้งสำคัญในวันนี้

นายลูคัส ซูคาลิส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอเธนส์และประธานมูลนิธิด้านนโยบายยุโรปและต่างประเทศของกรีซ มองว่า การลงประชามติดังกล่าวเป็นชัยชนะส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซิปราส “ผลประชามติบ่งชี้ว่าชาวกรีซจำนวนมากตัดสินใจที่จะมอบความไว้วางใจแก่นายกรัฐมนตรี"

“ประชามติเมื่อวันอาทิตย์ไม่มีผลดีต่อเศรษฐกิจกรีซ ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นพันธสัญญาบางประการที่ผมไม่แน่ใจว่าซิปราสจะสามารถจัดการได้หรือไม่ในอนาคต" นายคอสตาส เมลาส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพนทีออนของกรีซ กล่าวกับซินหัว

“มีความไม่แน่นอนอยู่ทั่วไป ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละฝ่ายจะตีความเจตนารมณ์ดังกล่าวว่าอย่างไร" นายนิคอส เวททาส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจเอเธนส์กล่าว

นายซูคาลิสระบุว่า “ประชาชนในยูโรโซนมองว่าไม่ว่าการที่กรีซพ้นจากยูโรโซนจะเป็นหายนะเล็กน้อยหรือร้ายแรงสำหรับกรีซ แต่ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อยุโรปด้วย"

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกรีซระบุว่า แนวคิดริเริ่มจากทางรัฐบาลกรีซเป็นสัญญาณที่ดีสู่ประนีประนอมกับกลุ่มประเทศในยุโรป แต่เวลาที่จำกัดเป็นปัญหาของเศรษฐกิจกรีซ

นายซูคาลิส ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ ชี้ว่า “นายซิปราสเร่งเจรจากับยูโรโซน เขาจัดการประชุมร่วมกับบรรดาผู้นำของทุกพรรคการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพของประเทศ และได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงรัฐมนตรีคลัง"

ขณะที่ธนาคารต่างๆปิดทำการและการเจรจาจะใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมงเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงที่มีความเป็นไปได้นั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าเศรษฐกิจของกรีซไม่สามารถรับมือได้นาน

“หากธนาคารยังคงปิดทำการเป็นเวลา 1 หรือ 2 สัปดาห์ ก็จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของกรีซ" นายซูคาลิสกล่าวย้ำ

เขากล่าวว่า ข้อตกลงในหลักการระหว่างกรีซและกลุ่มประเทศยุโรปมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ภาคธนาคารกรีซจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์

นายเมลาส ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแพนทีออนของกรีซ มองว่า เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุข้อตกลงในเร็วๆนี้ “ต้องโน้มน้าวให้ ECB เชื่อว่ากรีซต้องการที่จะเจรจาจริงๆ"

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 รายเห็นพ้องกันว่า เนื้อหาของข้อตกลงใหม่จะมีมาตรการที่ยากลำบากสำหรับประชาชนชาวกรีซ

“ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลให้เศรษฐกิจกรีซตกต่ำอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่าในขณะนี้ต้องมีแผนที่หนักหน่วยขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ" นายซูคาลิสกล่าว

“ข้อตกลงใหม่จะรวมถึงการระดมทุนใหม่ภายใต้เงื่อนไขของกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งจะมีข้อเรียกร้องมากขึ้นและยากมากขึ้นกว่าเดิม" นายเมลาสกล่าว

นายเวททาสอธิบายว่า จำเป็นต้องมีวิธีการที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพื่อดึงดูดการลงทุนต่างชาติ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะถดถอย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ