China Focus: เงินเฟ้อจีนชะลอตัว สะท้อนความจำเป็นของการผ่อนคลายทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2016 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 1.9% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่ขยายตัว 2% และเดือนเม.ย.ที่ขยายตัว 2.3%

หยู ฉิวเหม่ย นักสถิติของ NBS กล่าวว่า ดัชนี CPI ชะลอตัวลงเนื่องจากราคาอาหาร บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายตัวเพียง 3.7% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอลงจาก 4.7% ในเดือนพ.ค.

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นดัชนีวัดต้นทุนราคาสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ปรับตัวลง 2.6% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่ร่วงลง 2.8% ในเดือนพ.ค. นับว่าปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 52 ติดต่อกัน

นายทอม ออร์ลิก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ระบุว่า ดัชนี CPI ขยายตัวสูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.8% อยู่เล็กน้อย ในขณะที่ดัชนี PPI นั้นชะลอตัวลงน้อยกว่าคาดการณ์ที่ 2.5%

นายออร์ลิกเชื่อว่า ราคาผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรม ซึ่งค่อยๆหลุดออกจากภาวะเงินฝืด ตลอดจนดัชนี PPI ที่ปรับตัวดีขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทในจีนมีผลกำไรที่แข็งแกร่ง มีเงินสำหรับนำไปชำระหนี้มากขึ้น จ่ายค่าแรงมากขึ้น และใช้จ่ายเงินมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายฉู ฮงบิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศจีนของเอชเอสบีซี สะท้อนมุมมองที่ไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก โดยเขาเตือนว่า ความเสี่ยงด้านเงินฝืดยังคงปรากฎอยู่

นายฉูระบุว่า แม้ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไม่น่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากความต้องการภายในประเทศยังคงอ่อนแรง เขาระบุว่า จีนจำเป็นจะต้องออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นทางธุรกิจ

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์กระบุว่า แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นประเด็นที่ยังไม่ถูกตัดออกไป แต่ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ

"แนวคิดในเชิงผ่อนคลายจะยังคงมีอยู่ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ๆเพิ่มเติม ไม่น่าจะเกิดขึ้น" นายออร์ลิกระบุ

"จีนมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายที่ให้ผลกระทบสูงน้อยลง อาทิ การปรับลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) " นายออร์ลิกกล่าว

นายออร์ลิกระบุด้วยว่า ปัจจุบันเกิดความไม่แน่นอนต่างๆนานาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ

เขากล่าวว่า การที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit เสี่ยงที่จะกระทบอุปสงค์โลก แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ โดยเขาระบุว่า ตลาดแรงงานสหรัฐมีความผันผวนมากพอที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พักเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเอาไว้ แม้ว่าปัจจุบันตลาดแรงงานสหรัฐจะเริ่มกลับมามีเสถียรภาพแล้วก็ตาม สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ