Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้"ทรัมป์"หมดโอกาสขยายฐานเสียง เหตุโพล่งไม่ยอมรับผลเลือกตั้งหากพ่ายแพ้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2016 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศึกเลือกตั้งใหญ่สหรัฐกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ ทว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันกำลังประสบปัญหาในการขยายฐานเสียงสนับสนุนของตนเองไปยังกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร เนื่องจากทรัมป์ได้ออกมาพูดก่อนหน้านี้ว่า เขาจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้หากเขาแพ้การเลือกตั้ง

ในขณะที่อีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าอาจจะเกิดสถานการณ์ต่างๆนานา และอะไรก็มีความเป็นไปได้นั้น นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งชิงเก้าอี้ประมุขทำเนียบขาวจากพรรคเดโมแครต กำลังมีคะแนนนำโด่งเหนือทรัมป์จากโพลล์สำรวจหลายสำนัก ซึ่งมีการเผยแพร่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย.นี้

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ถึงแม้ทรัมป์จะได้รับการหนุนหลังจากเหล่าผู้สนับสนุนของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันผิวขาวชนชั้นแรงงาน แต่เขายังต้องการคะแนนเสียงที่มากกว่าฐานเสียงเหล่านั้นเพื่อที่จะคว้าชัยในการเลือกตั้งหนนี้

เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วที่นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า ทรัมป์จำเป็นต้องดึงเสียงสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่อยู่ตรงกลางและกลุ่มผู้มีสิทธิโหวตอิสระ ทว่าอภิมหาเศรษฐีผู้มีบุคลิกหุนหันพลันแล่นจากนิวยอร์กคนนี้ก็ยังไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ในขณะที่มีบางช่วงเวลาที่ทรัมป์ดูมีราศีในการเป็นประธานาธิบดี แต่เขากลับคงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของการเป็นผู้สมัครจอมคุยโวคนเดิม ซึ่งถือเป็นการปิดโอกาสชนะใจผู้มีสิทธิออกเสียงด้วยการแสดงความคิดเห็นที่ถูกหลายคนมองว่าแปลกประหลาด

ในระหว่างการโต้วาทีอภิปรายครั้งสุดท้ายที่ลาสเวกัส รัฐเนวาดา เมื่อวันพุธที่แล้ว ทรัมป์ทิ้งทวนใส่คู่แข่งด้วยการกล่าวโจมตีเธอในประเด็นด้านเศรษฐกิจไปจนถึงด้านความมั่นคงในประเทศ แต่ทรัมป์กลับทำลายความได้เปรียบเหล่านั้นด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียวที่ว่า เขาปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งหากเขาพ่ายแพ้ หลังจากนั้น ทรัมป์ยังบอกด้วยว่า จะยอมรับผลการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อเขาเป็นผู้ชนะเท่านั้น

นักวิจารณ์ชี้ว่า คำพูดเหล่านี้ทำลายธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน 200 ปีที่ผู้แพ้การเลือกตั้งจะยอมรับความปราชัยและมอบอำนาจการบริหารประเทศให้แก่ผู้ชนะ

นายดาร์เรล เวสต์ รองประธานและผู้อำนวยการภาควิชาธรรมาภิบาลศึกษาแห่งสถาบันบรู๊คกิงส์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า “สายเกินไปแล้วสำหรับทรัมป์ที่จะขยายฐานเสียง สิ่งที่เขาได้กล่าวปราศรัยในช่วงหลายสัปดาห์หลังนี้ เป็นการมัดใจฐานเสียงเก่าของเขาเท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างความประทับใจให้แก่กลุ่มผู้มีสิทธิโหวตที่ยังไม่ตัดสินใจเลย"

นายเวสต์ให้ความเห็นว่า กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ ซึ่งไม่ปลื้มคำพูดของทรัมป์ที่จุดชนวนในประเด็นของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยนั้น ต่างมองว่าทรัมป์หยาบคาย และใจแคบต่อผู้คนที่มีภูมิหลังแตกต่างจากตนเอง

“นี่ทำให้เขาเผชิญกับความลำบากที่จะขอเสียงสนับสนุนจากผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ เพราะความรู้สึกแรกเริ่มที่พวกเขามีต่อทรัมป์นั้นเป็นไปในแง่ลบเสียส่วนใหญ่ และยังไม่ชัดเจนว่า ทรัมป์จะสามารถทำอะไรได้ในช่วง 2 สัปดาห์ที่เหลือก่อนการเลือกตั้งเพื่อที่จะพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นฝ่ายชนะ“ นายเวสต์กล่าว

นายเวสต์กล่าวโดยอ้างผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยมอร์นิ่ง คอนซัลท์ เซอร์เวย์ ระบุว่า 70% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตอบรับแบบสำรวจเห็นว่า ทรัมป์ควรยอมรับความพ่ายแพ้หากเขาปราชัย

“ทรัมป์จะถูกวิจารณ์อย่างหนักแน่นอน หากเขาพ่ายแพ้และไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง" นายเวสต์กล่าวเสริม

ส่วนนายแดน ลี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยเนวาดาในลาสเวกัส ก็ให้ความคิดเห็นที่ไม่ต่างจากนั้น

“นี่เป็นอีกหนึ่งกรณีที่คำพูดของทรัมป์สร้างความประทับใจแก่กลุ่มผู้สนับสนุนที่เป็นแกนหลัก แต่ยังไม่ดีพอสำหรับชาวรีพับลิกันดั้งเดิม หรือผู้มีสิทธิโหวตที่ยังไม่ตัดสินใจ" ลี กล่าวกับซินหัว

“การยอมรับความพ่ายแพ้และยินยอมให้มีการถ่ายโอนอำนาจสู่มือของประธานาธิบดีคนใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งตามกระบวนการกฏหมาย นับเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่ง แม้แต่การเลือกตั้งในปี 2000 ซึ่งเกิดการโต้แย้งเรื่องผลการเลือกตั้งนั้น ปรากฏว่า นายอัล กอร์ ผู้สมัครจากเดโมแครตในเวลานั้นก็ยังออกมายอมรับความพ่ายแพ้ และมองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนั้นชอบด้วยกฎหมาย" นายลีกล่าว

ทั้งนี้ นายลีได้ยกตัวอย่างถึงกรณีการช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างนายอัล กอร์ กับจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งผลการเลือกตั้งครั้งนั้นออกมาคู่คี่สูสีจนต้องให้ศาลสูงสุดของสหรัฐเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งนายกอร์ก็ยอมรับในคำชี้ขาดนั้น

นายลีกล่าวว่า ปัญหาสำหรับทรัมป์ก็คือ เขาจำเป็นต้องขยายฐานเสียงสนับสนุนหลังจากที่ตกเป็นฝ่ายตามหลัง (นางคลินตัน)

“การปราศรัยลักษณะนี้ของทรัมป์ไม่อาจเบนความสนใจกลุ่มผู้ยังไม่ตัดสินใจหรือผู้สนับสนุนพรรคการเมืองทางเลือกอื่นๆ ให้หันมาสนับสนุนเขาได้ โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังนี้ กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงอิสระมีท่าทีเอนเอียงไปสนับสนุนนางคลินตันมากกว่า และคำพูดล่าสุดของทรัมป์อาจทำให้แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนขึ้นไปอีก“ เขากล่าวทิ้งท้าย

บทวิเคราะห์โดย แมทธิว รัสลิง

สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ