Analysis: นักเศรษฐศาสตร์ชี้นโยบายกีดกันการค้าไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 21, 2017 10:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ริชาร์ด เอ็น คูเปอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวสหรัฐได้กล่าวแสดงความเห็นในระหว่างการเสวนาโต๊ะกลมที่ปรุงปักกิ่งว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีการเติบโตอย่างซบเซา มาตรการใดๆที่มีเป้าหมายเพื่อกีดกันทางการค้าจะเปรียบเสมือนฝันร้าย โดยนโยบายเช่นนี้ไม่สามารถเป็นยาแก้พิษเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจโลกอันเปราะบางนี้ได้

คูเปอร์ ซึ่งผู้เป็นนักวางนโยบายและศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แสดงความเห็นดังกล่าวในการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน สหรัฐ และแคนาดา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขาได้ออกมาเตือนเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายกีดกันทางการค้า

เขากล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง โดยมาตรการใดๆที่มีขึ้นเพื่อกีดกันทางการค้า "จะสกัดไม่ให้เศรษฐกิจโลกเติบโต"

นายคูเปอร์ ระบุว่า เศรษฐกิจโลกกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงซบเซายืดเยื้อ (secular stagnation) และหากมีการใช้มาตรการเพื่อกีดกันทางการค้าแล้ว ก็คงเป็นการกระทำที่ "ไม่ฉลาดอย่างยิ่ง"

การแสดงความเห็นของนายคูเปอร์มีเจตนามุ่งเป้าไปที่กระแสการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าในโลกตะวันตก ซึ่งขณะนี้มีนักการเมืองยุโรปบางรายพยายามหาเสียงด้วยประเด็นการปกป้องการค้าในประเทศของตนเองและแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว

ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐในยุคของปธน.ทรัมป์นั้น นายคูเปอร์เชื่อว่า นโยบายกีดกันทางการค้าจะไม่ช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน แต่เขาก็เชื่อว่า ปธน.ทรัมป์ไม่ใช่บุคคลที่สมควรเรียกว่าคนขวางกระแสโลก

เขากล่าวว่า "ปธน.ทรัมป์เห็นด้วยกับแนวคิดการค้าเสรีแน่นอน เพราะเป็นผลดีต่อสหรัฐเอง"

ในส่วนของรัฐบาลจีน นักเศรษฐศาสตร์รายนี้มองว่า ทางการจีนทำหน้าที่ของตนได้ดีแล้วในการควบคุมดูแลเศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สำนักสถิติแห่งจีน (NBS) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้ขยายตัว 6.7% เทียบรายปี ซึ่งแม้ชะลอตัวลงเล็กน้อยแต่ก็ดีกว่าประเทศอื่นๆเป็นส่วนใหญ่ และยังคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของเศรษฐกิจโลกด้วย สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ