Analysis: ผู้เชี่ยวชาญชี้นายกฯอังกฤษจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดเพื่อเดินเกมสกัดกลุ่มคัดค้าน Brexit

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 19, 2017 10:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 8 มิ.ย. โดยให้เหตุผลในเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งสวนทางกับท่าทีก่อนหน้านี้ที่นางเมย์เคยยืนกรานว่ารัฐบาลจะไม่ประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนปี 2563 ขณะที่กระแสตอบรับไร้ทิศทาง

ทั้งนี้ เท่ากับว่าเหลือเวลาอีก 7 สัปดาห์ ก่อนอังกฤษจัดการเลือกตั้ง

โคลิน ทาลบอต ศาสตราจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "นางเมย์พยายามทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่ Brexit เพื่อให้เธอใช้เป็นอำนาจในการต่อรอง ขณะที่ฝ่ายค้านพยายามเลี่ยงประเด็นดังกล่าว แต่ก็ไม่น่าจะประสบผลสำเร็จ และน่าจะพ่ายแพ้อย่างย่อยยับเมื่อประเมินจากผลสำรวจที่ผ่านมา ดังนั้นจึงเท่ากับว่า นางเมย์จะสามารถถ่วงดุลฝ่ายที่คัดค้าน Brexit ได้"

ด้านศาสตราจารย์มาร์ติน สมิธ หัวหน้าภาควิชาการเมือง มหาวิทยาลัยยอร์ค กล่าวว่า "การที่นายกฯอังกฤษได้ตัดสินใจจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่โอหังและปากว่าตาขยิบ เพราะก่อนหน้านี้นางเมย์เคยยืนกรานว่าจะไม่จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด และหากต้องทำเช่นนั้นแล้ว นางเมย์จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการจัดเลือกตั้งในรูปแบบที่นายกฯคนก่อนหน้าได้เสนอไว้ต่อรัฐสภา"

ภายใต้กฎหมาย Fixed-Term Parliaments Act ของอังกฤษนั้น นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศจัดการเลือกตั้งได้ หากสมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3 ลงมติสนับสนุน

ศาสตราจารย์สมิธ กล่าวว่า "ปัจจุบันพรรคแรงงานได้รับความนิยมลดลง จึงถือเป็นโอกาสสำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง และเมื่อพรรคอนุรักษ์นิยมสามารถครองเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลก็จะสามารถเดินหน้าข้อตกลงเรื่อง Brexit ได้"

อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์สมิธ เตือนว่า พรรคอนุรักษ์นิยมน่าจะเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อสกอตแลนด์ และแนวโน้มในการจัดทำประชามติรอบที่สอง

บรรดาผู้ติดตามข่าวการเมืองมองว่า การตัดสินใจของนายเมย์นั้นเป็นการเสี่ยงโชค แต่ก็มองว่าขณะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการจัดเลือกตั้งก่อนกำหนด เนื่องจากนางเมย์มีคะแนนนิยมเหนือพรรคแรงงานกว่า 20 จุด

นางเมย์ ซึ่งปัจจุบันถูกคัดค้านอย่างหนักเรื่องแผน Brexit ทั้งในสภาสามัญชน (House of Commons) และสภาขุนนาง (House of Lords) นั้น ยังต้องประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อบรรลุข้อตกลง Brexit ให้เอื้อต่ออังกฤษด้วย

หากนางเมย์ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ นอกจากจะเป็นการสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มคัดค้าน Brexit แล้ว ยังจะทำให้เธอมีข้อต่อรองที่ดีขึ้นกับสหภาพยุโรปด้วย ดังนั้นผู้ติดตามข่าวการเมืองหลายๆรายจึงเห็นว่า นางเมย๋ไม่มีอะไรต้องเสียจากการประกาศจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ