China Focus: One Belt One Road ยุทธศาสตร์ที่มีมากกว่าแค่การเป็น “แถบ" และ "เส้นทาง"

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 24, 2017 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2537-2547 ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี อย่างไรก็ดี ประเทศจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจภายในประเทศอีกมากมาย เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยยังคงกว้างมาก การผลักดันให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาการละเมิดสิทธิของเกษตรกร ปัญหาชนบททรุดโทรม ปัญหาการพัฒนาชุมชนเมืองที่ยังไม่สมบูรณ์มากนัก และปัญหาแรงงานยุคใหม่ และน่าจะยังมีปัญหาอีกสารพัดปัญหาที่เราไม่อาจนำมายกตัวอย่างให้เห็นได้ทั้งหมด ดังนั้น โจทย์สำคัญจึงอยู่ที่ว่า จีนจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อ จะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของประชาชนจีนดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายต่างประเทศเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความท้าทายที่เกิดขึ้นนอกประเทศ เช่น ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจว่าด้วยเรื่องของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ปัญหาทะเลจีนใต้ หรือการที่ประเทศอื่น ๆ ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของจีนต่างก็เป็นโจทย์หินจากต่างประเทศที่สร้างความท้าทายให้กับจีนว่า จีนจะทำอย่างไรต่อไป? โครงการ One Belt One Road จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ทางผู้นำจีนต้องการผลักดัน เพื่อให้จีนและประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันได้

One Belt One Road คืออะไร?

โครงการ One Belt One Road หรือที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า โครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ซึ่งประกอบไปด้วยแถบเศรษฐกิจสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) และเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของ “สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนที่ต้องการจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับประเทศต่าง ๆ ที่เป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหมที่จีนได้วางไว้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการดำเนินยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศของจีน ภายใต้เป้าหมายที่ว่า โครงการนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่าง ๆ ผ่านการสร้างผลประโยชน์ร่วมหลายด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมด้วย โครงการ One Belt One Road จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการเชื่อมต่อและยกระดับความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรปรวมทั้งหมด 68 ประเทศ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอีกมากกว่า 100 แห่ง โดยยึดหลักการ “ร่วมปรึกษา ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน" ดังนั้น โครงการ One Belt One Road จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของความเป็น “แถบ" และ “เส้นทาง" แต่คือเครือข่ายความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก

“คาซัคสถาน" และ"อินโดนีเซีย" จุดเริ่มต้นของคำว่า “Belt" และ “Road"

ย้อนไปเมื่อเดือนปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายนปี 2556 เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางเยือนประเทศในเอเชียกลาง 4 ประเทศ ประกอบด้วย เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน และเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 และประชุมสุดยอด SCO การเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับโครงการ One Belt One Road เนื่องจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กล่าวปาฐกถาที่ มหาวิทยาลัย Nazarbayev ในระหว่างการเยือนประเทศคาซัคสถานเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2556 มีใจความสำคัญว่า ประเทศจีนและเอเชียกลางมีการติดต่อกันอย่างเป็นมิตรมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นผ่านเส้นทางสายไหมทางบก และคาซัคสถานก็เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับหลาย ๆ ชนชาติ และในโอกาสนี้เอง ประธานาธิบดีสีจึงได้พูดถึงคำว่า “Belt" หรือ “แถบ" ผ่านการเสนอความคิดในการร่วมกันสร้าง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม" ขึ้น การกล่าวปาฐกถาของประธานาธิบดีจีนครั้งนี้ จึงเป็นเหตุการณ์สำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีสี มองเห็นความสำคัญ หรือให้ความสำคัญกับคำว่า “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม" และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ประธานาธิบดีจีนก็ได้มีการกล่าวถึงเส้นทางสายไหมอีกครั้งที่ประเทศอินโดนีเซีย

คำว่า “Road" หรือ “เส้นทาง" นั้น มาจากแนวคิดที่ประธานาธิบดีสีนำเสนอในระหว่างการกล่าวปาฐกถาที่รัฐสภาอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2556 เนื่องในโอกาสการเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในฐานะประธานาธิบดี และอินโดนีเซียก็ถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประธานาธิบดีสีเดินทางเยือน ปาฐกถาครั้งนี้ มีใจความสำคัญว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดสำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเลมาตั้งแต่ยุคโบราณ ประเทศจีนจะสร้างความร่วมมือทางทะเลกับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแกร่ง โดยใช้เงินกองทุนความร่วมมือทางทะเลจีน-อาเซียนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางทะเลและการสร้าง “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21" ร่วมกัน และนี่คือที่มาของคำว่า Belt และ Road ที่ถือกำเนิดขึ้นจาก 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในคาซัคสถานและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการกล่าวปาฐกถาทั้ง 2 ครั้งนี้ มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ผู้นำจีนได้เริ่มแสดงท่าทีให้เห็นชัดว่า โครงการเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ One Belt One Road กำลังจะถือกำเนิดขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปี 2559 กับความคืบหน้าของโครงการ

คงแทบจะไม่มีใครปฏิเสธว่า แนวคิดโครงการ One Belt One Road นั้นมีความน่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะสามารถสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับหลาย ๆ ประเทศ อย่างไรก็ดี อีกประเด็นสำคัญที่ชวนให้เราสงสัยก็คือว่า นับตั้งแต่ที่ผู้นำจีนได้กล่าวเปิดตัวโครงการ One Belt One Road ไปเมื่อปี 2556 จนถึงปี 2559 นับเป็นเวลาเกือบ 3 ปี โครงการ One Belt One Road มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง? ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนมิ.ย.จนถึงกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทางศูนย์อบรมด้านกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้จัดโครงการพัฒนาศึกษาค้นคว้าสำหรับสื่อมวลชนของราชอาณาจักรไทย ค.ศ. 2017 ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนมีโอกาสได้รับฟังบรรยายจาก อ.เฉิน ฉุนยิง รองอาจารย์ใหญ่จากโรงเรียนเทศบาลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมณฑลไห่หนานเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการนี้ โดย อ. เฉินเล่าว่า ความคืบหน้าของโครงการสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 ประการ ดังนี้

ประการแรกคือ การประชุมด้านนโยบายและยุทธศาสตร์กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เกิดสัญญาความร่วมมือกับ 14 ประเทศ เช่น ลาว คาซัคสถาน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ เป็นต้น และได้ลงนามความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอีก 2 แห่งรวมเป็น 16 ชุด

ประการที่สองคือ การส่งเสริมให้มีการค้าขายกับประเทศที่อยู่ในโครงการ One Belt One Road มากยิ่งขึ้น โดย มูลค่าการค้าระดับทวิภาคีมีมูลค่าถึง 6.3 ล้านล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.6%

ประการที่สามคือ การขยายความร่วมมือด้านการลงทุนแบบสองทิศทาง ทั้งการลงทุนภายในประเทศสมาชิก One Belt One Road และการลงทุนจากต่างประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม One Belt One Road มีการเซ็นสัญญาโครงการต่างๆเพิ่มขึ้นจากเดิม 36% หรือ 1,620 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการที่สี่คือ มีการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า โดยจัดตั้งเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า 56 แห่ง ใน 20 กว่าประเทศ จำนวนเงินลงทุนอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประการที่ห้าคือ การดำเนินการโครงการใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น ทางรถไฟ ถนน สะพาน เช่น โครงการปรับปรุงถนนสายไหมจีน-ปากีสถานครั้งที่ 2 อีกทั้งยังมีการพัฒนาโครงสร้างด้านการสื่อสาร เช่น การสร้างเคเบิ้ลใต้น้ำเอเชีย-อเมริกา และเคเบิ้ลใต้น้ำเอเชีย-ยุโรป ซึ่งในบรรดาโครงการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีทั้งโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่

ประการที่หก คือ การส่งเสริมการสร้างเขตการค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างสำคัญคือ จีนและอาเซียนได้ลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่ นอกจากนี้ จีนยังสามารถบรรลุการเจรจาเกี่ยวกับการตั้งเขตการค้าเสรีกับจอร์เจียได้สำเร็จ และคาดว่า จะมีการลงนามข้อตกลงภายในปีนี้

ประการที่เจ็ดคือ ความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายรถไฟด่วนจีน-ยุโรปที่ขยายตัวมากขึ้น และมีการรวมแบรนด์กันระหว่างรถไฟจีนและรถไฟยุโรป ส่งผลให้ปัจจุบันมีรถไฟด่วนจีน-ยุโรปวิ่งทั้งหมด 1,700 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนที่โครงการ One Belt One Road จะเริ่มต้นประมาณ 1 เท่า

ประการสุดท้าย คือ การสร้างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสร้างสัมพันธ์ในภาคประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมโดยมีรัฐบาลจีนเป็นผู้ให้ทุน การจัดตั้งพันธมิตรทางวิชาการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" มีการเจรจาให้มีการรับรองการศึกษาระดับปริญญาตรีร่วมกับประเทศผู้เข้าร่วมโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว และการถ่ายภาพยนตร์อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็คือผลงานทั้ง 8 ประการที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ One Belt One Road ซึ่งนับถึงปี 2559 แต่ยังไม่รวมถึงความคืบหน้าล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2560 ที่จีนได้จัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจบนเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ไปอย่างยิ่งใหญ่ การประชุมครั้งล่าสุดนี้สามารถดึงดูดผู้นำจาก 29 ประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคคลสำคัญกว่า 1,500 คน จากกว่า 100 ประเทศเดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ความท้าทายต่อจากนี้คืออะไร?

เป็นเรื่องธรรมดาที่โครงการขนาดยักษ์ใหญ่จะนำพาความซับซ้อนตามมาด้วย การบรรยายของทางศูนย์วิจัยค้นคว้ากระทรวงพาณิชย์มณฑลไห่หนานได้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายหลายจุดที่จีนและประเทศผู้เข้าร่วมโครงการ One Belt One Road อาจต้องเผชิญในภายภาคหน้าต่อจากนี้ แต่ประเด็นท้าทายที่อยากจะหยิบยกมาให้ร่วมกันคิดและจับตาดูไปด้วยกันนั้น มีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรกขอเริ่มต้นด้วยประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากโครงการ One Belt One Road เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อนำจีนไปสู่ความรุ่งเรืองและบรรลุ “ความฝันของจีน" หรือ “Chinese Dream" เพื่อให้ประเทศจีนได้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ขณะที่ประชาชนจีนเองก็จะได้อยู่ดีมีสุข สุดท้ายแล้วก็ต้องรอดูและเอาใจช่วยว่า โครงการ One Belt One Road จะนำพาประเทศจีนไปถึงฝั่งฝันได้โดยสำเร็จหรือไม่

ประเด็นที่สองที่อยากจะกล่าวถึงก็คือการใช้ One Belt One Road เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจีนระบุไว้ว่า โครงการนี้จะถูกนำมาใช้สานความสัมพันธ์อันดีกับประเทศต่าง ๆ แต่ทว่า เวทีที่ว่านี้มีหลายตัวละคร ความท้าทายขั้นต่อไปก็อยู่ที่ว่า ด้วยจำนวนประเทศที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มีอยู่มาก ความคืบหน้าต่าง ๆ ย่อมต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองมากมาย จีนจะสามารถผ่านพ้นกระบวนการทั้งเจรจาและหารือที่ซับซ้อนกับหลากหลายประเทศเหล่านี้ไปได้อย่างไร

ประเด็นต่อไปก็คือ ประเด็นค้างคาระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยมีเรื่องกับจีนเกี่ยวกับประเด็นการอ้างสิทธิในพื้นที่ทะเลจีนใต้จนถึงขั้นนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮกมาแล้ว ขณะที่ อ.เฉิน ฉุนยิง ได้แสดงความคิดเห็นว่า “การยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับฟิลิปปินส์ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์กลับสู่สภาวะปกติ และปัจจุบันประเด็นการอ้างสิทธิ์ก็กลายเป็นประเด็นที่ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาพูดอีกแล้ว" อย่างไรก็ดี คำถามที่ว่า แล้วความสัมพันธ์ดี ๆ แบบนี้จะถูกรักษาไว้ได้นานแค่ไหน ก็ยังคงไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้ เพราะประเด็นการอ้างสิทธิ์บริเวณทะเลจีนใต้ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ไม่มีใครยอมใคร ถึงแม้ว่าวันนี้จะไม่มีใครยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด แต่ก็ไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่า เรื่องนี้จะไม่ถูกนำขึ้นมาพูดอีกในอนาคต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์และจีนจะใช้กลไกอะไรมาป้องกัน จัดการ หรือแก้ไขไม่ให้ประเด็นนี้กลับมาเป็นข้อขัดแย้งอีกครั้ง และในขณะเดียวกันก็ต้องร่วมกันรักษาความสัมพันธ์อันดีและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สู่ทั้งสองฝ่าย

ประเด็นสุดท้ายก็คือ ความวิตกกังวลจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับรัฐ ถึงแม้ว่าทางการจีนจะออกมาเน้นย้ำอยู่เสมอว่า จีนยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาตามหลักการของความเท่าเทียม การได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายโดยปราศจากวาระทางการเมืองใด ๆ มาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเกิดความวิตกกังวลจากหลายฝ่ายทั้งจากภาครัฐ สื่อมวลชน และนักวิชาการเรื่องวาระแอบแฝงของความหวังที่จะขยายอิทธิพลและแผ่อาณานิคมทางการค้า หรือการเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเด็นลักษณะนี้ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันอยู่บ่อยๆ เรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องเอาใจช่วยว่า จีนจะสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างไร และถ้าหากสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้แล้ว จะรักษาสถานะแบบนั้นต่อไปได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้ก็เป็นประเด็นและตัวอย่างที่จะชี้ให้เห็นว่า One Belt One Road คืออะไร มีที่มาอย่างไร มีจุดประสงค์อย่างไร ความคืบหน้าไปถึงไหน และอะไรคือความท้าทายที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะอธิบายให้เห็นว่า เหตุใด One Belt One Road จึงเป็นยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจที่มีมากกว่าแค่การเป็น “แถบ" และ "เส้นทาง"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ