Analysis: นักวิเคราะห์ชี้แผนยุทธศาสตร์ Brexit ของอังกฤษจะถูกทดสอบบนโต๊ะเจรจากับ EU หลังจากนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2017 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อังกฤษคลอดแผนแม่บทสำหรับกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่มีความชัดเจนมากที่สุด หลังจากที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความล่าช้าและไม่คืบหน้า นับจากวันที่สหราชอาณาจักรลงประชามติสนับสนุนให้แยกตัวออกจาก EU หรือ Brexit เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การเจรจากับ EU บนพื้นฐานของแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเผชิญกับอุปสรรคอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของอังกฤษเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทาง EU อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ

นักวิเคราะห์มองว่า แผนยุทธศาสตร์ Brexit ของอังกฤษซึ่งระคนด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยและเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญจากกลุ่มที่เห็นด้วยนั้น จะต้องผ่านด่านทดสอบแรกอย่างเป็นทางการในระหว่างการเจรจารอบที่ 3 ของคณะผู้แทนจากสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ในปลายเดือนนี้ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ชุดแรกที่มีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นสำคัญในการเจรจา Brexit โดยคาดกันว่าการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นขวากหนามเหล่านี้จะเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ซึ่งรวมถึงประเด็นเรื่องการค้าระดับทวิภาคีระหว่างอังกฤษกับ EU ในอนาคต และปัญหาเขตแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์และไอร์แลนด์เหนือ อันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจัดทำขึ้นภายหลังจากที่การเจรจา Brexit สองรอบก่อนหน้านี้ไม่มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยอังกฤษพยายามที่จะตอกกลับคำวิจารณ์ของ EU ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า การเจรจา Brexit ไม่คืบหน้าเพราะอังกฤษไร้จุดยืนที่ชัดเจนในทุกประเด็นปัญหา

ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว อังกฤษได้แสดงความจำนงที่จะคงอยู่ในสหภาพศุลกากรร่วมกับ EU ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาโกลาหลบนแนวพรมแดนหลังจากที่อังกฤษแยกตัวออกจาก EU แล้ว อย่างไรก็ตาม แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่แน่ชัดแต่อย่างใด

นอกจากนี้ เอกสารดังกล่าวยังระบุว่า อังกฤษควรมีเสรีภาพในการเจรจาเกี่ยวกับรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าในช่วงเปลี่ยนผ่านหลัง Brexit ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายสหภาพยุโรปยากที่จะยอมรับ

อังกฤษยังได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะจัดการเจรจารอบใหม่ แม้การเจรจาที่ผ่านมาจะมีความคืบหน้าไม่มาก ขณะที่ EU ยืนกรานว่า ก่อนที่จะมีการยกระดับการเจรจาขึ้นไปอีกขั้นนั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องบรรลุข้อตกลงในประเด็นปัญหาเบื้องต้นเสียก่อน ซึ่งได้แก่ จำนวนเงินที่อังกฤษจะจ่ายให้กับสหภาพยุโรปในการถอนตัวออกจาก EU, วิธีการตรวจสอบความปลอดภัยและภาษีศุลกากรบนพรมแดนไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพรมแดนหนึ่งเดียวที่กั้นระหว่างอังกฤษกับชาติสมาชิก EU หลัง Brexit และประเด็นสุดท้ายคือ สถานภาพของพลเมือง EU จำนวน 3 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร

ถึงแม้คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ได้กล่าวชื่นชมความคืบหน้าของอังกฤษครั้งนี้ว่าเป็น "ย่างก้าวที่เป็นบวก" แต่กระนั้นก็ระบุว่าเป็นเพียง "ความเพ้อฝัน" แต่ทางสหภาพยุโรปยืนยันว่าจะพิจารณาแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะในประเด็นภาษีศุลกากร

นอกจากนี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปยังระบุด้วยว่า จะพิจารณาคำร้องขอของอังกฤษเกี่ยวกับระยะเวลาผ่อนผันในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านหลัง Brexit แต่กระนั้น EC กล่าวเสริมว่า "เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ก็ต่อเมื่อมีความคืบหน้าที่เพียงพอในแง่ของเงื่อนไขการถอนตัวออกจาก EU อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้วเท่านั้น"

บทวิเคราะห์โดย กุ้ย เทา สำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ