Analysis: เยอรมนีเผชิญวิกฤตการเมืองครั้งใหญ่ หลังเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมไม่สำเร็จ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 21, 2017 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เยอรมนีกำลังเผชิญมรสุมทางการเมืองครั้งหนักหน่วงที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ หลังการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ขอถอนตัวจากโต๊ะเจรจาเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากความขัดแย้งในนโยบายเปิดรับผู้อพยพและนโยบายด้านพลังงานของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล

การเจรจาที่หยุดชะงักลงอย่างพลิกความคาดหมายนั้น ทำให้เยอรมนีซึ่งเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งของยุโรป เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมือง พร้อมกับความไม่แน่นอนในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด

  • บททดสอบภาวะผู้นำของ "แมร์เคิล"

หลังจากพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ของนางแมร์เคิลไม่สามารถจับมือกับพรรคพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ นายกฯแมร์เคิลก็ได้เข้าหารือกับนายแฟรงก์-วอลแตร์ สไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีเยอรมนี เพื่อหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 1 ทศวรรษ

สื่อหลายสำนักกำลังจับตาสถานการณ์ของนายกฯแมร์เคิลอย่างใกล้ชิด โดยก่อนหน้านี้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากต่างก็แสดงความเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดแล้วผู้นำพรรค CDU จะสามารถผ่าทางตันโดยการจัดตั้งรัฐบาลผสมสามฝ่าย หรือที่เรียกว่า "Jamaica coalition" ระหว่างพรรค CDU/CSU, พรรค FDP และพรรคกรีนได้สำเร็จ โดยอาศัยประสบการณ์จากการบริหารประเทศมาหลายสมัยของเธอ

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมครั้งนี้ถูกมองเป็นบททดสอบภาวะผู้นำครั้งสำคัญที่สุดในรอบกว่า 11 ปีของนางแมร์เคิล ขณะที่พรรคทางเลือกสำหรับเยอรมนี (AfD) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัด ได้ออกมาเรียกร้องให้นางแมร์เคิลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"นางแมร์เคิลคว้าน้ำเหลว และถึงเวลาแล้วที่เธอจะก้าวลงจากเก้าอี้นายกฯ" นายอเล็กซานเดอร์ เกาแลนด์ แกนนำส.ส.พรรค AfD ในสภา "บุนเดสทาค" หรือสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าว

  • ความโกลาหลทางการเมืองในดินแดนอินทรีเหล็ก

ถึงแม้เวลานี้อาจเร็วเกินไปที่จะคาดเดาชะตากรรมของนางแมร์เคิลบนถนนสายการเมือง แต่กระนั้นก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า ระบอบการเมืองเยอรมนีในขณะนี้กำลังตกอยู่ภาวะระส่ำระสาย ขณะที่บรรดาพรรคการเมืองต่างก็กล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

พรรค CDU และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางแมร์เคิล ได้จับมือกับพรรคกรีน กล่าวโจมตีพรรค FDP จากกรณีที่ถอนตัวจากการฟอร์มรัฐบาลผสมเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

ปีเตอร์ เทาเบอร์ เลขาธิการพรรค CDU ได้วิพากษ์วิจารณ์พรรค FDP ว่า "ขี้ขลาดเกินไปที่จะแบกรับความรับผิดชอบ" ถึงแม้ว่าพรรค CDU จะยอมโอนอ่อนตามเงื่อนไขสำคัญของพรรค FDP ที่ขอให้ยกเลิกภาษี "solidarity tax" แล้วก็ตาม

ขณะที่นายมิเชล เคลล์เนอร์ หัวหน้าคณะเจรจาของพรรคกรีน ได้กล่าวหาพรรค FDP ว่า พยายามขัดขวางกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และแสดงความไม่เป็นมืออาชีพ

เคลล์เนอร์อ้างว่า พรรค FDP ทำให้การเจรจาประสบภาวะชะงักงัน โดยการตอกย้ำจุดยืนที่จะไม่ยอมประนีประนอมในประเด็นการเปิดรับผู้อพยพและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรค CDU และพรรคกรีน

ขณะที่นายโธมัส ครอยเซอร์ แกนนำส.ส.พรรค CSU แห่งสภาท้องถิ่นรัฐบาวาเรีย ได้แสดงความกังขาในพรรค FDP ว่า จงใจถอนตัวจากแนวร่วมไตรภาคี หรือ "Jamaica" ตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ตาม พรรค FDP ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ พร้อมกับตำหนินายกฯแมร์เคิลว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเจรจาล้มเหลว โดยโวลเกอร์ วิสซิง นักการเมืองพรรค FDP ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ "ดอยซ์ลันด์ฟังก์" ว่า พรรค CDU และ CSU ได้พยายามใช้อิทธิพลครอบงำโต๊ะเจรจา

นอกจากนี้ นายวิสลิง ยังกล่าวปกป้องการตัดสินใจของพรรคด้วยเหตุผลที่ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นที่ขัดแย้งกันกว่า 200 ข้อ หลังจากที่การเจรจาดำเนินยืดเยื้อมานาน 4 สัปดาห์

ขณะที่นายคริสเตียน ลินด์เนอร์ หัวหน้าพรรค FDP ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า เขายอมถอนตัวจากโต๊ะเจรจาก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย. โดยระบุว่า "การไร้รัฐบาลในเวลานี้ ย่อมดีเสียกว่ามีรัฐบาลที่ผิดพลาด"

ด้านนางนิโกลา เบียร์ เลขาธิการพรรค FDP ได้แสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า หากเยอรมนีจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด พรรคของเธอจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบมากขึ้นในการชิงชัยกับพรรค CDU ของนางแมร์เคิล

  • รื้อฟื้นการเจรจา หรือ จัดเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด?

หากไร้พรรค FDP แล้ว พรรคแนวร่วม CDU/CSU และพรรคกรีนจะมีจำนวนส.ส.ที่ไม่เพียงพอต่อการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร หรือ "บุนเดสทาค" ซึ่งจะทำให้การผลักดันกฎหมายต่างๆเป็นไปด้วยความยากลำบาก

และการที่พรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ได้ออกมายืนกรานปฏิเสธว่าจะไม่เข้าร่วมเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค CDU/CSU อย่างแน่นอนนั้น ก็ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ในการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นมีเพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายฮูเบอร์ตัส เฮล เลขาธิการพรรค SPD ได้กล่าววิจารณ์ทั้งพรรค CDU, CSU, FDP และพรรคกรีนว่า กำลังฉุดรั้งประเทศเยอรมนีให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน

ขณะที่สื่อเยอรมันรายงานว่า พรรค SPD เองก็รู้สึกประหลาดใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทางพรรคก็ยังไม่ได้เตรียมตัวลงสู้ศึกเลือกตั้งก่อนกำหนดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรค SPD ออกมายืนยันเมื่อวานนี้ว่า พวกเขาจะไม่พิจารณาจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค CDU และ CSU ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่จากสองขั้วอุดมการณ์ หรือที่เรียกว่า "grand coalition" อย่างแน่นอน

ส่วนทางด้านนางแคทจา คิปปิง ประธานพรรคฝ่ายซ้าย (Linke) ได้ออกมาเรียกร้องให้เยอรมนีจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด พร้อมให้สัมภาษณ์กับ หนังสือพิมพ์ "เบอร์ลิเนอร์ ไซทุง" ของเยอรมนี ว่า "ไม่มีใครต้องการจัดตั้งรัฐบาลผสมในรูปแบบ grand coalition ในเวลานี้"

บทวิเคราะห์โดยสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ