China Focus: "หูหนาน" แดนสวรรค์แห่งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 27, 2017 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ผมอาจหลงรักเมืองจีนเข้าให้แล้ว"

... นี่เป็นความคิดแรกที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้ไปใช้ชีวิตในเมืองจีนมาเป็นเวลา 1 สัปดาห์

สถานที่ที่ผมไปเยือนมาคือมณฑลหูหนาน โดยได้รับคำเชิญจากสำนักงานข้อมูลแห่งรัฐบาลมณฑลหูหนาน (Information Office of People’s Government of Hunan) และสำนักงานกิจการชาวจีนโพ้นทะเลแห่งรัฐบาลมณฑลหูหนาน (Overseas Chinese Affairs Office of People’s Government of Hunan) ให้เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของมณฑลหูหนาน ผ่านการไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในเมืองฉางซา ฉางเต๋อ จางเจียเจี้ย และเฟิงหวง ในระหว่างวันที่ 13-18 พ.ย. ที่ผ่านมา งานนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากตัวแทนของรัฐบาลจีนประจำมณฑลหูหนาน และตัวแทนจากองค์กรภาครัฐตามเมืองต่างๆที่ได้ไปแวะเวียน เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว

หูหนานเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศจีนตอนกลาง มีพื้นที่ทั้งหมด 211,875 กิโลเมตร คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย มีประชากรราว 68 ล้านคน ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยต่างๆมากมายรวมกันกว่า 50 กลุ่มชาติพันธุ์ มีฉางซาเป็นเมืองหลวง และแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 14 เมือง 122 เทศมณฑล ซึ่งคล้ายกับอำเภอหรือเขตในบ้านเรานั่นเอง

การไปเยือนหูหนานครั้งนี้ทำให้ผมทราบว่า คำว่า "หูหนาน" นั้นมีที่มาจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของตัวมณฑล คำว่า "หู" ในภาษาจีนแปลว่าทะเลสาบ ส่วนคำว่า "หนาน" แปลว่าทิศใต้ รวมกันแล้วแปลว่ามณฑลที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของทะเลสาบนั่นเอง ซึ่งหากดูจากแผนที่แล้วจะพบว่า หูหนานนั้นตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลสาบต้งถิง ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของจีน

หูหนานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของจีนที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะว่าที่ตั้งของมณฑลนั้นเป็นจุดเชื่อมระหว่างพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกและพื้นที่ฝั่งตะวันตกตอนกลาง และยังขั้นกลางระหว่างเขตเศรษฐกิจเปิดแม่น้ำแยงซี และเขตเศรษฐกิจเปิดตามแนวชายฝั่ง หรือที่รู้จักกันในนามว่าเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt One Road) เรียกได้ว่าเป็นประตูเชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเลยก็ว่าได้ โดยจากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 ระบุว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของหูหนานนั้นอยู่ที่ 3.124 ล้านล้านหยวน ขยายตัวถึง 7.9% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่รายได้ของรัฐบาลประจำมณฑลนั้นอยู่ที่ 4.25 แสนล้านหยวน ขยับขึ้น 6.0% เมื่อเทียบรายปี และรายได้ของประชาชนท้องถิ่นอยู่ที่ 2.69 แสนล้านหยวน ขยับขึ้น 7.3% เมื่อเทียบรายปี

หูหนานยังเป็นมณฑลที่มีความเพรียบพร้อมด้านระบบการคมนาคม ประกอบด้วยรถรางและรถรางความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับมณฑลอื่นๆของจีน ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง กว่างโจว กว่างซี เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และอีกมากมาย ไปจนถึงทางหลวงขนาดใหญ่ระยะทางรวมกันกว่า 238,000 กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อเมืองและเทศมณฑลต่างๆรวมกัน 114 แห่ง ทำให้ท้องถนนส่วนใหญ่ในหูหนานไม่ค่อยมีปัญหารถติดมากเท่าไหร่ นอกจากนี้ หูหนานยังมีสนามบินนานาชาติและสนามบินภายในประเทศเป็นของตัวเองอีกด้วย สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 20 ล้านคนต่อปี มีเส้นทางบินตรงกว่า 26 เส้นทางไปยังเมืองต่างๆทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอสแอนเจลิส แฟรงก์เฟิร์ต โซล สิงคโปร์ และยังมีข่าวว่าอีกไม่นานนี้ก็จะมีเส้นทางบินตรงมายังสนามบินอู่ตะเภาของไทยอีกด้วย

เมื่อพูดถึงการปรับตัวของมณฑลให้สอดคล้องกับการเปิดเศรษฐกิจจีนตามนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของรัฐบาลจีนแล้ว รัฐบาลประจำมณฑลหูหนานได้พยายามพลิกโฉมดินแดนที่ไม่มีทางออกติดทะเลแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือทางการค้าและการเปิดกว้างสำหรับการลงทุนร่วมกับ 200 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก อีกทั้งยังได้สร้างสัมพันธไมตรีร่วมกับ 74 เมืองใน 26 ประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐโคโลราโดในสหรัฐ เทศบาลนครโกรนิงเกนในเนเธอร์แลนด์ เมืองโทคุชิมะในญี่ปุ่น และอีกมากมาย

นอกจากนี้ มณฑลหูหนานยังมีคู่ค้าหลัก ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบอาเซียน ขณะที่เส้นทางขนส่งระหว่างหูหนานและยุโรป ที่เริ่มต้นจากฉางซา พาดผ่านไปยังเมืองดุ๊ยส์บวร์กของเยอรมนี มอสโกของรัสเซีย ทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน มินสก์ของเบลารุส และบูดาเปสต์ของฮังการี ยังเป็นอีกช่องทางที่ทำให้มณฑลแห่งนี้เชื่อมต่อถึงเขตเศรษฐกิจอื่นๆทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลให้ในปี 2559 มีจำนวนนักลงทุนชาวต่างชาติจดทะเบียนเข้ามาลงทุนในหูหนานมากถึง 661 ราย และมีบริษัทกว่า 140 แห่งที่ติดอันดับฟอร์จูน 500 เข้ามาลงทุนในโครงการต่างๆรวมแล้วกว่า 206 โครงการ

หูหนานยังเป็นแหล่งส่งออกหัวรถจักรที่สำคัญของโลก คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 20% ในตลาดโลก และยังส่งออกเครื่องจักรก่อสร้าง รางรถไฟ รวมถึงข้าวสารไปยังประเทศต่างๆ และที่สำคัญ หูหนานจัดเป็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งรัฐบาลประจำมณฑลได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้ไปสัมผัสมาโดยตรงทำให้กล้าพูดได้เลยว่า รัฐบาลจีนมีความจริงจังในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสูงมาก อีกทั้งยังสามารถดำเนินโครงการได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่มองข้ามการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทำให้ผลงานที่ออกมามีความเป็นสากล แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายดั้งเดิม อีกทั้งชาวบ้านเองก็ได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน มีอาชีพในพื้นที่เป็นของตัวเอง ต่างจากเดิมที่ต้องพากันเดินทางเข้าไปหาทำงานในเมืองใหญ่

ฉางซา

ฉางซาเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูหนาน เป็นทั้งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจประจำมณฑล และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจีน ทั่วทั้งเมืองรายล้อมไปด้วยต้นไม้ตลอดทาง ไม่ว่าจะเป็นต้นการบูร แมกโนเลีย และแคสเซีย เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็จะเห็นต้นไม้เต็มสองฝั่งข้างทางไปหมด ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลจีนต้องการรักษาความเป็นธรรมชาติและความสวยงามของตัวเมืองไว้นั่นเอง

จุดแรกที่ผมได้แวะชมคือ หมู่บ้านทงกวน สถานที่ทำเครื่องเซรามิกพอร์ซเลนที่มีชื่อเสียงมายาวนานของจีน และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งชาติในปี 2553 ที่แห่งนี้ผลิตเครื่องเซรามิกมาตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีก่อนในสมัยราชวงศ์ถัง และปัจจุบันได้ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียและแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือตามแนวเส้นทางสายไหมทางทะเล รวมแล้วมากกว่า 20 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 20 ล้านหยวน จุดเด่นของเครื่องเซรามิกที่นี่อยู่ที่ดินที่ใช้ปั้น ได้แก่ ดินเกาลินท้องถิ่นที่มีความยืดหยุ่นและขึ้นรูปง่ายกว่าดินจากที่อื่น

เครื่องเซรามิกเหล่านี้มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งจาน ชาม หม้อ ไห แจกัน ไปจนถึงรูปเหมือนของบุคคลในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีการวาดภาพและลวดลายลงบนภาชนะที่ทำขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน คำสอนและบทกลอนต่างๆ ทำให้เครื่องเซรามิกเหล่านี้เป็นหนึ่งในตัวแทนของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์จีน

ระหว่างเดินทางเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ ผมยังได้เยี่ยมชมเตาเผาโบราณที่มีความยาวถึง 49 เมตร ซึ่งถูกใช้ในการทำเครื่องเซรามิกมาตั้งแต่สมัยก่อน ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างเรียกเจ้าเตาเผานี้ว่าเตาเผามังกร เนื่องจากมีความยาวเหมือนลำตัวมังกร ในสมัยก่อนเวลาเผาเครื่องเซรามิกนั้น ชาวบ้านจะต้องผลัดกันมาเฝ้าเตาถึง 7 วัน 7 คืนด้วยกัน เพราะในตอนนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เหมือนทุกวันนี้ นอกจากนี้ การเผาเครื่องเซรามิกด้วยเตานี้ในอดีตจะเกิดขึ้นเพียงปีละ 3 ครั้งเท่านั้น โดยชาวบ้านปั้นดินขึ้นมาทีละมากๆ และรอเผาทีเดียว แสดงให้เห็นว่าการจะได้มาซึ่งเครื่องเซรามิกแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

โอกาสนี้ผมยังได้พบกับหัวหน้าช่างปั้นของหมู่บ้าน ชื่อคุณถัง ซึ่งกำลังนั่งปั้นรูปเหมือนของเหลยเฟิง วีรชนผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน และความทุ่มเทในหน้าที่ คุณถังเล่าให้ฟังว่า ตัวคุณถังเองได้เริ่มปั้นดินเกาลินมาตั้งแต่อายุ 16 ปี จนตอนนี้อายุ 72 ปีแล้ว แต่ก็ยังรักในการปั้นเครื่องเซรามิกเหล่านี้ เมื่อถามว่าการจะปั้นรูปเหมือนเหล่านี้ขึ้นมาสักชิ้นนั้นยากแค่ไหน คุณถังก็ชี้ไปที่หุ่นเหลยเฟิงที่กำลังปั้นอยู่ แล้วตอบว่า "ดูอย่างรูปปั้นนี้สิ แค่ออกแบบก็กินเวลาไปแล้ว 1 ปี สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปั้นหุ่นคือการหาข้อมูล ต้องหาสปิริตของคนที่เราจะปั้นให้เจอ และต้องสื่อออกมาให้ได้ว่าคนที่เราปั้นนั้นเป็นคนอย่างไร"

หลังจากที่เดินชมหมู่บ้านทงกวนแล้ว ผมได้เดินทางต่อไปยังศูนย์วิจัยการเย็บปักถักร้อยหูหนาน เพื่อชมศิลปะผ้าทอโบราณของทางมณฑล ศูนย์แห่งนี้ได้รับตราสินค้าอันทรงเกียรติจากกระทรวงพาณิชย์จีนในปี 2554 และได้รับการขนานนามว่าเป็นฐานจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมจีนโดยกระทรวงวัฒนธรรมของจีนในปี 2557

ก้าวแรกที่เดินเข้าไปต้องบอกว่าถึงกับอึ้ง กับผ้าปักลายนกยูงที่อยู่ตรงประตูทางเข้า เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นผ้าปักสไตล์เซียง (หูหนาน) ของจริงครั้งแรก ไม่ต่างจากนักข่าวคนอื่นๆที่ต่างร้องว้าวกันไปตามๆกัน

จีนนั้นมีผ้าปักอยู่ทั้งหมด 4 แบบ ได้แก่ ผ้าปักสไตล์ซูของมณฑลเจียงซู ผ้าปักเยวี่ยของมณฑลกวางตุ้ง ผ้าปักฉู่ของมณฑลเสฉวน และผ้าปักเซียงของมณฑลหูหนาน ที่มีประวัติยาวนานกว่า 2,500 ปี

เอกลักษณ์ของผ้าปักเซียงนั้นอยู่ที่การเลือกใช้ไหมสีต่างๆเพื่อทำให้ลายที่ออกมาดูเหมือนมีแสงเงา โดยไหมแต่ละสีนั้นจะมีเฉดต่างๆแบ่งออกเป็นเกือบ 10 สีย่อย แม้กระทั่งสีขาวก็มีเฉดสีเป็นของตัวเอง ทำให้ลายที่ปักออกมาดูมีมิติเหมือนภาพวาดมากๆ โดยเฉพาะถ้ามองจากระยะไกลแล้วก็ต้องคิดว่าเป็นภาพวาดแน่นอน ผ้าปักส่วนใหญ่จะแสดงลวดลายทิวทัศน์ บุคคลสำคัญ ดอกไม้ และสัตว์ โดยภาพสัตว์อย่างเช่นเสือจะมีการเน้นสีของเงาบนดวงตาให้ออกมาเหมือนจริงและดูมีมิติมากที่สุด นอกจากนี้ ไหมที่ใช้ปักผ้ายังเป็นไหมเส้นเล็กที่เกิดจากการแยกใยไหม นำมาปักซ้อนกันมากกว่า 1 ชั้น ทำให้ลายที่ปักออกมามีความนุ่มนวลและกลมกลืนดูเป็นธรรมชาติ และด้วยจุดเด่นนี้เอง ทำให้ผ้าปักเซียงของมณฑลหูหนานถูกขนานนามว่าเป็นการวาดภาพที่ใช้เข็มแทนพู่กันและด้ายแทนสี

หากถึงจุดนี้ยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงโปรแกรมแต่งภาพในคอมพิวเตอร์ ที่ภาพหนึ่งภาพถูกประกอบขึ้นจากเลเยอร์หลายเลเยอร์มาวางทับซ้อนกัน เพียงแต่ผ้าปักเซียงเป็นการแต่งภาพด้วยเข็มและด้ายเท่านั้นเอง

การเยี่ยมชมศูนย์วิจัยครั้งนี้ยังทำให้ผมได้พบกับ "มายากลแห่งแดนมังกร" นั่นคือผ้าปักที่ภาพสองฝั่งไม่เหมือนกัน ส่วนตัวแล้วเคยได้ยินมาว่ามีผ้าปักชนิดนี้อยู่จริง แต่พอมาเห็นด้วยตาตัวเองแล้วก็รู้สึกทึ่งกับความงามวิจิตรที่ปรากฏแก่สายตา อย่างเช่นผ้าปักที่ด้านหนึ่งเป็นหงส์สีขาวสองตัว แต่อีกด้านหนึ่งเป็นหงส์สีขาวและสีดำ หรือผ้าปักที่ฝั่งหนึ่งเป็นภาพทิวทัศน์ริมฝั่งแม่น้ำในฤดูร้อนที่มีต้นไม้ผลิดอกออกใบ ขณะที่อีกฝั่งเป็นภาพทิวทัศน์ในฤดูหนาวที่มีหิมะตก โดยทางศูนย์ได้อธิบายว่า เทคนิคการปักผ้าสองฝั่งนี้เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2492 ถือเป็นการปักผ้าที่ทำให้ผลงานออกมามีความน่าสนใจ เนื่องจากเมื่อใดที่เห็นลายปักฝั่งหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดความอยากรู้ว่าลายปักอีกฝั่งหนึ่งจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ผ้าปักเซียงเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญทางวัฒนธรรมจีนอย่างมาก เนื่องจากใช้เป็นของขวัญสำหรับมอบให้แก่แขกคนสำคัญเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจไมตรี และสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของทั้งผู้ให้และผู้รับ อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง รายได้ที่มาจากการผลิตผ้าปักเหล่านี้ส่วนใหญ่จึงมาจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานในประเทศต่างๆ โดยที่ผ่านมาเคยถูกนำไปจัดแสดงแล้วในประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ รายได้อีกส่วนยังมาจากการประมูลผลงาน เช่นในปี 2556 ที่มีผลงานผ้าปักชิ้นหนึ่งถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 2.2 ล้านหยวน

ฉางเต๋อ

หลังจากที่ได้เห็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเมืองฉางซาแล้ว ผมได้เดินทางต่อไปยังเมืองฉางเต๋อทางตอนเหนืองของมณฑลหูหนาน ที่ตั้งของจุดชมวิวเถาฮวาหยวน ติดกับแม่นำหยวนฉุ่ย ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านชาวประมงในสมัยก่อน สถานที่แห่งนี้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และจุดชมทัศนียภาพแห่งชาติระดับ AAAA โดยในปัจจุบันกำลังยื่นขอจดทะเบียนเป็นจุดชมทัศนียภาพระดับ AAAAA

ที่แห่งนี้เต็มไปกลิ่นอายของหมู่บ้านที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ผู้คนในพื้นที่ต่างใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากความกังวลและเรื่องวุ่นวายใจ เรียกได้ว่าเป็นการใช้ชีวิตที่ค่อนข้าง "ชิล" สะท้อนภาพตามที่บรรยายอยู่ในบทกลอน "ดินแดนดอกท้อ" ของกวีจีนชื่อดัง "เถาหยวนหมิง" ที่เล่าเรื่องของชาวประมงผู้หนึ่งที่พลัดหลงเข้ามาในดินแดนแถบนี้ และหลงรักกับบรรยากาศที่อบอุ่น สงบ และเรียบง่าย

หลังจากเดินชมบรรยากาศโดยรอบแล้ว ผมได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในอุทยาน โดยแต่ละที่นั้นจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชุมชนโดยรอบและชีวประวัติของกวีเถาหยวนหมิงผู้เลื่องชื่อ รวมถึงยังมีการจัดแสดงรากไม้แกะสลักขนาดใหญ่ที่มีความยาวกว่า 15.88 เมตร กว้าง 6.3 เมตร และสูงกว่า 3 เมตร และเตียงนอนสมัยก่อนที่ใช้ในพิธีแต่งงาน เรียกได้ว่าเหมือนเป็นการเดินทางย้อนกลับไปในอดีตเพื่อดูว่าคนจีนสมัยก่อนเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร

นอกจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสเดินเข้าไปในหมู่บ้านของชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เช่นการทำการเกษตรและการละเล่นท้องถิ่น โดยสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือการที่ผู้หญิงและผู้ชายจะต้องเดินแยกทางกันเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งระหว่างการเดินทางกลับหมู่บ้าน ระหว่างเดินแยกทางกันนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะร้องเพลงส่งกันไปมา และด้วยความที่ทางเดินของฝ่ายหญิงนั้นสั้นกว่าและถึงหมู่บ้านเร็วกว่า ฝ่ายหญิงก็จะเดินไปกั้นทางเข้าหมู่บ้านที่เชื่อมกับทางเดินของฝั่งชาย ซึ่งฝ่ายชายจำเป็นต้องร้องเพลงเพื่อยอมให้ฝ่ายหญิงใจอ่อนจึงจะสามารถเข้าหมู่บ้านได้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่ดีของการมาจีนครั้งนี้

ในช่วงกลางคืน ผมได้รับชมการแสดง 2 ฝั่งลำน้ำจากบนเรือที่มีเนื้อเรื่องอิงจากบทกวีดินแดนดอกท้อ การแสดงชุดนี้ทุ่มทุนสร้างทั้งสิ้น 250 ล้านหยวน เป็นการเนรมิต 2 ฝั่งของแม่น้ำระยะทาง 4.6 กิโลเมตรให้เป็นเวทีบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนสมัยก่อนผ่านละครย่อย 18 ฉาก สำหรับผมแล้วถือว่าเป็นการแสดงที่อลังการและเหนือจินตนาการมาก ด้วยฉากและแสงสีที่ตระการตาท่ามกลางธรรมชาติยามค่ำคืน นับเป็นการปิดท้ายวันที่สมบูรณ์แบบ

จางเจียเจี้ย

จางเจียเจี้ยเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงามมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับป่า โดยพื้นที่ป่าคิดเป็นเกือบ 70% ของทั้งเมือง ในปี 2558 เมืองจางเจียเจี้ยมีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศรวมกันมากถึง 61.4 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 4.43 หมื่นล้านหยวน ขณะที่ใน 9 เดือนแรกของปีนี้ จางเจียเจี้ยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศไปแล้วถึง 53 ล้านคน สร้างรายได้มากกว่า 3.81 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 19%

ในการเดินทางครั้งนี้ ผมได้แวะที่ "อุทยานอู่หลิงหยวน" ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง "อวตาร" ในฉากภูเขาลอยฟ้า "ฮัลเลลูยาห์" อุทยานแห่งนี้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นอุทยานป่าไม้แห่งชาติแห่งแรกของจีนในปีพ.ศ. 2525 และได้รับการบรรจุให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกในปีพ.ศ. 2535 รวมถึงกลายเป็นอุทยานธรณีระดับโลกในปี 2547 และได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนให้เป็นจุดท่องเที่ยวระดับ AAAAA ในปี 2550 ทั้งยังได้รับการบรรจุให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านอารยธรรมแห่งชาติในปี 2551 อีกด้วย

สำหรับการพัฒนาการท่องเที่ยวในจางเจียเจี้ยนั้น นอกจากจะมีการจัดตั้งอุทยานต่างๆแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ผ่านการสนับสนุนด้านอาชีพการบริการ รวมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมและสินค้าประจำท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยว มีการเปิดกว้างสำหรับการลงทุนประเภทโรงแรมและที่พักสีเขียว เพื่อกระตุ้นให้เกิดรายได้ภายในพื้นที่ ลดอัตราความยากจนของผู้คนท้องถิ่น และทำให้เกิดเครือข่ายที่เชื่อมจุดท่องเที่ยวต่างๆเข้าด้วยกัน

สำหรับวิวทิวทัศน์ในพื้นที่บริเวณนี้ ต้องบอกว่าสวยงามเหนือคำบรรยาย แม้ว่าช่วงที่ไปนั้นจะมีฝนตกเล็กน้อย มีหมอกค่อนข้างเยอะ แต่ท้ายที่สุดก็ได้นั่งกระเช้าลอยฟ้าและลงลิฟท์ข้างหน้าผาที่สามารถมองเห็นภูเขาและต้นไม้ในบริเวณได้อย่างใกล้ชิด เป็นบรรยากาศที่มีเอกลักษณ์เหมือนหลุดออกมาจากภาพวาดจีนโบราณจริงๆ

ทางผู้จัดยังได้พาไปยังโรงแรม No.5 Valley Inn ซึ่งเป็นโรงแรมต้นแบบด้านการพัฒนาท้องถิ่นห่างไกลให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับสากลตามนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ตั้งของโรงแรมแห่งนี้อยู่ใจกลางหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับอุทยานอู่หลิงหยวน เดิมทีถูกปล่อยร้างและไม่ได้รับการพัฒนา เนื่องจากผู้คนในชุมชนต่างต้องการออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ต่อมาในปี 2555 คุณเฉิน ซึ่งเป็นคนที่นี่ ได้ตัดสินใจเดินทางกลับมาเพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง ด้วยการร่วมมือกับภรรยาและชาวนาในท้องถิ่นสร้างโรงแรมที่มีมาตรฐาน ส่งผลให้ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่กว่า 30 รายมีงานทำโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าเมืองใหม่ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นกว่า 2 หมื่นหยวนต่อปี อีกทั้งยังได้รับการยอมรับจากตัวแทนการท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง Booking.com, TripAdvisor, Ctrip และ Agoda อีกด้วย

นอกจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสเดินทางไปที่หน้าผาจางเจียเจี้ย หรือที่รู้จักกันในชื่อ "แกรนด์แคนยอนแห่งจางเจียเจี้ย" สถานที่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากอุทยานอู่หลิงหยวนไปทางทิศตะวันออกราว 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของสะพานแก้วที่ยาวและสูงที่สุดในโลก ด้วยความยาวกว่า 430 เมตร กว้าง 6 เมตร และสูงจากพื้นดินกว่า 300 เมตร การเดินบนสะพานนี้ชวนให้รู้สึกหวาดเสียวไม่น้อย แม้ว่าหมอกจะลงค่อนข้างมากทำให้มองไม่เห็นภาพเบื้องล่างชัดเจนก็ตาม เนื่องจากเป็นวันที่อากาศหนาว มีลมพัด และฝนตกทำให้กระจกค่อนข้างลื่น ถือว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเองให้ได้

ผมใช้เวลาในเมืองจางเจียเจี้ยทั้งสิ้นสองวัน ในคืนแรกได้ชมการแสดงกลางภูเขาที่มีชื่อว่า "The Love Story of a Woodenman and a Fairy Fox" หรือที่แปลเป็นไทยได้ว่า "เรื่องราวความรักของชายตัดฟืนและนางพญาจิ้งจอก" โดยรวมแล้วเป็นผลงานที่ทำออกมาได้ดีมากจริงๆ สมแล้วกับเงินที่ทุ่มทุนสร้างลงไปกว่า 120 ล้านหยวน ทั้งฉาก ไฟ การแสดง เอฟเฟกต์พิเศษ และนักแสดงกว่า 500 ชีวิต ไปจนถึงการดำเนินเรื่องที่สนุกสนานได้อารมณ์ ที่บรรยายเกี่ยวกับความรักอันยากลำบากระหว่างมนุษย์ธรรมดาและนางพญาจิ้งจอก ทั้งหมดนี้ทำให้การแสดงชุดนี้ออกมาสมบูรณ์แบบ สร้างความอิ่มเอมประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก

คืนต่อมาเป็นการแสดงที่ชื่อว่า “Charming Xiangxi" ที่จัดขึ้นในโรงละครขนาดใหญ่ 2,800 ที่นั่ง และสามารถทำเงินได้มากกว่า 250 ล้านหยวนในปี 2555 สำหรับการแสดงนั้นจะแบ่งออกเป็นหลายชุด แต่ละชุดจะเป็นการเล่าเรื่องราวความเชื่อ ประเพณี เพลง และการละเล่นของชนเผ่าต่างๆในพื้นที่ เช่นการต่อตัวขึ้นไปเพื่อจีบสาวของหนุ่มพื้นบ้าน หรือการปลุกวิญญาณทหารที่ตายในสนามรบให้ศพเดินกลับมาหาครอบครัวที่หมู่บ้าน ไปจนถึงการแสดงผาดโผนต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการขอตัวแทนผู้ชมขึ้นไปร่วมกิจกรรมบนเวทีกับเหล่านักแสดง ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสขึ้นไปร่วมเต้นพื้นบ้านในครั้งนี้ด้วย นับเป็นอีกประสบการณ์ที่ดีและน่าตื่นเต้นในการมาเยือนเมืองนี้

เฟิ่งหวง

เฟิ่งหวงเป็นเทศมณฑลหนึ่งในหูหนาน อยู่ภายใต้การปกครองของเขตปกครองตนเองเซียงซี มณฑลหูหนาน เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงด้านทิวทัศน์บ้านเรือนสไตล์ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงที่เข้ากันกับธรรมชาติได้อย่างลงตัว รู้จักกันในนาม "เมืองโบราณเฟิ่งหวง" โดยตัวเมืองโบราณแห่งนี้มีแม่น้ำสีเขียวใสไหลผ่านใจกลาง ขณะที่ทั้งสองฝั่งนั้นเต็มไปด้วยบ้านเรือนสไตล์จีนโบราณ ล้อมรอบด้วยภูเขาและอุทยานป่าไม้ ถือเป็นการปิดทริปที่คุ้มค่ากับการมาเยือนจีนครั้งนี้

ที่แห่งนี้เป็นบ้านเกิดของบุคคลที่มีชื่อเสียงของจีนมากมาย เช่นอดีตนายกรัฐมนตรีสง สีหลิง หรือนักเขียนชื่อดัง เฉิน ชงเหวิน โดยปัจจุบัน บ้านของบุคคลสำคัญเหล่านี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมในรูปแบบคล้ายพิพิธภัณฑ์ ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ต่างๆของเจ้าของบ้านและจัดวางในตำแหน่งเดิม

ในปี 2544 เมืองโบราณเฟิ่งหวงได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีนให้เป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งมรดกโลกในปี 2549 ต่อมาในปี 2552 เมืองแห่งนี้ได้ถูกบรรจุเป็นจุดชมทัศนียภาพแห่งชาติระดับ AAAA อีกทั้งยังได้รับรางวัลเมืองทรงอิทธิพลด้านการท่องเที่ยวของจีนในปี 2553 ในเทศกาลท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจีนครั้งแรก

หากคิดว่าบรรยากาศในตอนกลางวันของเมืองโบราณเฟิ่งหวงสวยพอแล้ว ต้องบอกเลยว่าให้รอดูบรรยากาศตอนกลางคืน ภาพที่เห็นถือว่าต่างจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว โดยบ้านริมน้ำทุกหลังจะเปิดไฟสวยงาม เช่นเดียวกับสะพานกลางน้ำที่เปิดไฟเด่นไม่แพ้กัน แสงสะท้อนบนน้ำยังช่วยทำให้เมืองแห่งนี้ดูมีชีวิตชีวามากขึ้นไปอีก มีตลาดกลางคืนตลอดทางเดินริมน้ำ หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาที่นั่งก็มีร้านอาหารและบาร์คอยให้บริการอยู่ตลอดทาง ส่วนใครที่ต้องการหากิจกรรมสนุกๆเล่นระหว่างการเดินชมเมืองยามค่ำคืน ก็มีซุ้มเกมให้เล่นแลกของรางวัลกันอย่างเพลิดเพลิน

และทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมได้พบเจอในระหว่างการเดินทางไปประเทศจีนครั้งนี้ มาถึงตอนนี้ผมก็มั่นใจในตัวเองแล้วว่า "ผมหลงรักเมืองจีนเข้าให้แล้ว" …


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ