(เพิ่มเติม) จีนเผยดัชนี PPI เดือนก.ค.ร่วงลง 5.4% เทียบรายปี หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday August 9, 2015 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่ง ร่วงลง 5.4% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนก.ค. ซึ่งมากกว่าที่ลดลง 4.8% ในเดือนมิ.ย. สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

ตัวเลขเดือนก.ค.นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2552 และลดลงเป็นเดือนที่ 41 ติดต่อกันแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาวัสดุที่ใช้ในการผลิตลดลง 6.9% ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง 0.3%

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ดัชนี PPI เฉลี่ยอยู่ที่ 4.7% เมื่อเทียบรายปี ขณะเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีลดลง 0.7% ในเดือนก.ค.

หยู ฉิวเหม่ย นักสถิติที่ NBS ชี้ว่า การหดตัวของดัชนี PPI มีสาเหตุหลักมาจากการร่วงลงของราคาสินค้าอุตสาหกรรม และต้นทุนสำหรับการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลง

ด้านฉู หงปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าวว่า อุปสงค์ภายในประเทศยังคงซบเซา และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงอยู่ในทิศทางขาลง จีนจึงยังคงเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด

สำหรับสัญญาณที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์อ่อนแอ ได้แก่ การนำเข้าของจีนที่ดิ่งลง 8.6% ในเดือนก.ค. ส่วนการส่งออกที่ร่วงลง 8.9% ก็สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆที่ลดลงสู่ระดับต่ำในรอบหลายปี ยิ่งเพิ่มแรงกดดัน และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ราคาพลังงานในปีนี้จะต่ำกว่าระดับของปี 2557 โดยเฉลี่ย 39% โดยราคาโลหะลดลง 16% และราคาแร่เหล็กทรุดลง 43%

ซู เจียน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เชื่อว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ่อนแอทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคชะลอตัว ในทางกลับกัน อุปสงค์ที่อ่อนแออันเนื่องมาจากกิจกรรมทางธุรกิจที่หดตัวนั้นก็จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง

"เพื่อหลีกเลี่ยงวงจรของปัญหา เราจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบขยายตัวมากขึ้น" นายซูกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ