จับตา "เทเรซา เมย์" แถลงรายละเอียดอังกฤษเตรียมแยกตัวจาก EU วันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2017 07:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตลาดการเงินทั่วโลกจับตานางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งจะแถลงรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยการแถลงดังกล่าวจะมีขึ้นในวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษบนถนนดาวนิ่งออกแถลงการณ์ ระบุว่า สุมทรพจน์ของนางเมย์จะย้ำถึงความจำเป็นที่ชาวอังกฤษจะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยยุติการแบ่งแยกระหว่างผู้ที่ลงมติเห็นด้วย หรือคัดค้านการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เพื่อให้กระบวนการ Brexit ประสบความสำเร็จ และสร้างอังกฤษที่จะมีความสัมพันธ์ในระดับโลกอย่างแท้จริง

ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะกล่าวเรียกร้องให้ชาวอังกฤษมีความเป็นเอกภาพในกระบวนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ขณะที่สื่อคาดการณ์กันว่า ถ้อยแถลงครั้งนี้จะระบุถึงการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเด็ดขาด และส่งผลกระทบที่รุนแรง (hard Brexit)

หนังสือพิมพ์หลายฉบับในอังกฤษ เช่น เดอะ ซันเดย์ ไทม์ส และซันเดย์ เทเลกราฟ ต่างรายงานว่า กระทรวงการคลังเตรียมหารือกับธนาคารรายใหญ่ในลอนดอน เพื่อหาทางลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดเงิน โดยที่รัฐบาลคาดว่า ค่าเงินปอนด์จะได้รับผลกระทบอีกระลอก

ทั้งนี้ อังกฤษได้เข้าร่วมกับสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2517 หรือกว่า 40 ปีมาแล้ว เนื่องจากมองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมตัวกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี กระแสเรียกร้องให้มีการถอนตัวจากสหภาพยุโรปเริ่มปะทุขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากบรรดานักการเมืองทั้งจากพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ รวมทั้งนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน

เหตุผลที่กลุ่มสนับสนุนการแยกตัวจากสหภาพยุโรปหยิบยกขึ้นมาอ้างนั้น ก็คือประเด็นทางด้านกฎหมาย เพราะสหภาพยุโรปมีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลประเทศสมาชิก ทำให้อังกฤษไม่สามารถออกกฎหมายที่ขัดต่อกฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปได้ เพราะต้องยอมรับใน "อำนาจรัฐเหนือรัฐ" ส่งผลให้อังกฤษไม่สามารถคัดกรองคนในสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้าประเทศ และไม่สามารถออกกฎหมายมากีดกันได้ เพราะขัดแย้งต่อนโยบายการเคลื่อนย้ายพลเมืองโดยเสรีในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ การที่ชาวอังกฤษสนับสนุนให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้น ก็เนื่องจากต้องการสกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานที่จะเข้ามาแย่งงานทำ รวมทั้งจำกัดผู้อพยพที่เข้าประเทศ เนื่องจากเป็นนโยบายของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้สมาชิกรับผู้อพยพ

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ที่สนับสนุน Brexit ยังไม่เห็นด้วยที่อังกฤษต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อสนับสนุนสหภาพยุโรปเป็นเงินจำนวนมากในแต่ละปี โดยในปี 2558 อังกฤษต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกภาพสูงถึง 8.5 พันล้านปอนด์ ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุน Brexit มองว่า การแยกตัวจะทำให้อังกฤษมีเงินจำนวนมากในการพัฒนาประเทศ แทนที่จะนำไปให้แก่ประเทศอื่นในยุโรป

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนในช่วงก่อนหน้านี้ว่า สถานการณ์ Brexit อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก โดยนายรามิน นาคิซา นักวิเคราะห์จากยูบีเอส ระบุว่า Brexit จะทำให้สกุลเงินสำคัญของโลกเกิดความผันผวน และส่งผลต่อการขยายตัวของอังกฤษ ซึ่งจะกระทบจีดีพีราว 2% ในระยะยาว อีกทั้งเตือนว่า เงินปอนด์จะทรุดตัวลงจนมีค่าเท่ากับยูโร ขณะที่ยูโร และเศรษฐกิจยุโรปก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทางด้านเอชเอสบีซีเตือนว่า เงินปอนด์จะทรุดตัวลงถึง 20% แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนที่จะดิ่งลงจนแตะระดับเดียวกันกับยูโร ขณะที่จีดีพีของเศรษฐกิจอังกฤษจะหายไปถึง 1.5% ส่วนนายคัลลูม พิคเกอริง จากวาณิชธนกิจเบเรนเบิร์ก ระบุว่า Brexit จะส่งผลกระทบไปทั่วยูโรโซน และตลาดการเงินหลายแห่ง รวมทั้งส่งผลต่อภาวะการเมืองในยุโรปด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ