"เฟซบุ๊ก" จ้างบริษัทพิสูจน์หลักฐานดิจิทัลสืบสวนกรณีข้อมูลผู้ใช้ 50 ล้านคนรั่วไหล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 20, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เฟซบุ๊ก ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้จ้างบริษัท สตรอซ ฟรีดเบิร์ก ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์พยานหลักฐานด้านดิจิทัล เพื่อสืบสวนกรณีการล้วงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคน ซึ่งคาดกันว่ามีความเชื่อมโยงกับทีมหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2559

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กเผชิญกระแสโจมตีอย่างหนัก หลังจากมีรายงานข่าวว่า แคมบริดจ์ อนาลิติกา ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์การเมือง สามารถเข้าถึงข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กจำนวน 50 ล้านคน โดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องด้วยจุดประสงค์ทางการเมือง โดยข่าวดังกล่าวฉุดหุ้นเฟซบุ๊กร่วงลงเกือบ 7% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อคืนนี้

"เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานอิสระจากสตรอซ ฟรีดเบิร์ก ได้ลงพื้นที่ตรวจสำนักงานแคมบริดจ์ อนาลิติกา ในกรุงลอนดอนวันนี้" แถลงการณ์ของเฟซบุ๊กระบุ

แถลงการณ์ของเฟซบุ๊กยังระบุด้วยว่า แคมบริดจ์ อนาลิติกา ได้ให้ความร่วมมือ และอำนวยความสะดวกให้กับสตรอซ ฟรีดเบิร์กในการตรวจสอบเซิร์ฟเวอร์และระบบ

หนังสือพิมพ์เดอะ เมอร์คิวรี นิวส์ ของแคลิฟอร์เนีย รายงานว่า ทีมหาเสียงของปธน.ทรัมป์ ได้ใช้ข้อมูลของแคมบริดจ์ อนาลิติกา ระหว่างการเลือกตั้งขั้นต้น แต่ไม่ได้ใช้ระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหรัฐระบุว่า แคมบริดจ์ อนาลิติกา ได้รับเงินเป็นจำนวน 5.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2559 จากทีมหาเสียงของปธน.ทรัมป์

ขณะที่รายงานข่าวจากสำนักข่าวเอพีระบุว่า เฟซบุ๊กได้เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แคมบริดจ์ อนาลิติกา ได้รับข้อมูลผู้ใช้งานจากแอปพลิเคชั่นหนึ่งบนเฟซบุ๊กเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแอปดังกล่าวอ้างตัวว่าเป็นเครื่องมือวิจัยทางจิตวิทยา อย่างไรก็ตาม แคมบริดจ์ อนาลิติกา ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าว

เฟซบุ๊ก ได้ออกมายอมรับว่า แอปดังกล่าวมีผู้ใช้งานดาวน์โหลดไปแล้วประมาณ 270,000 ราย ซึ่งผู้ใช้งานได้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวไปกับแอปดังกล่าวแล้วเช่นกัน

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทางบริษัทได้ระงับไม่ให้ "บริษัทสเตรทจิค คอมมิวนิเคชั่น ลาโบราทอรี่ส์ (เอสซีแอล) ซี่ง รวมถึงบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางการเมืองอย่างแคมบริดจ์ อนาลิติกา" เข้าใช้งานเฟซบุ๊ก โดยเฟซบุ๊กได้ให้เหตุผลว่า บริษัททั้งสองแห่งนี้ไม่ยอมลบข้อมูลผู้ใช้งานที่ได้มาเมื่อปี 2558 ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการฝ่าฝืนระเบียบของเฟซบุ๊ก

ต่อมาในวันเสาร์ เฟซบุ๊กระบุว่า คำกล่าวหาที่ว่าข้อมูลเฟสบุ๊กรั่วไหลนั้นเป็นเรื่องเท็จ โดยระบุว่า ระบบของเฟซบุ๊กไม่ถูกแทรกซึม และรหัสผ่านและข้อมูลที่อ่อนไหวไม่ได้ถูกขโมยแต่อย่างใด

ส่วนเมื่อวานนี้ เฟซบุ๊กยืนยันว่า แคมบริดจ์ อนาลิติกาชี้แจงว่า ข้อมูลที่แคมบริดจ์ อนาลิติกาได้มานั้นถูกทำลายแล้ว

"หากข้อมูลยังคงอยู่ก็จะถือเป็นละเมิดนโยบายของเฟซบุ๊กขั้นร้ายแรง และเป็นการละเมิดความไว้เนื้อเชื่อใจและคำมั่นสัญญาที่บริษัทเหล่านี้ให้ไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้" เฟซบุ๊กเปิดเผย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ