In Focusจาก MH370 ถึง MH17 และอนาคตที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของมาเลเซีย แอร์ไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 23, 2014 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แวบแรกที่ได้รับทราบข่าวเที่ยวบิน M17 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ ถูกยิงตกในยูเครน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าคำถามแรกที่ผุดขึ้นในใจของใครหลายคนคือ “มาเลเซีย แอร์ไลน์ อีกแล้วหรือ?"

นี่เป็นเหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้นกับสายการบินแห่งชาติของมาเลเซียเป็นครั้งที่สองในปีนี้ โดยยังไม่ทันที่มาเลเซีย แอร์ไลน์ จะหายมึนงงจากเหตุการณ์ปริศนาที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน MH370 เมื่อเดือนมีนาคม ทางสายการบินก็มาโดนหมัดน็อกเข้าไปอีกหนึ่งหมัด ท่ามกลางคำถามมากมายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ มาเลเซีย แอร์ไลน์ จะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตสองครั้งซ้อนในช่วงเวลาเพียงสี่เดือนไปได้อย่างไร

หุ้นของมาเลเซีย แอร์ไลน์ ร่วงลงอย่างหนัก 11% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หุ้นของสายการบินดิ่งลงไปถึง 35% แล้วในปีนี้

“ถึงแม้นี่จะเป็นเหตุบังเอิญอย่างจริงแท้แน่นอนที่สุด แต่ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ที่สายการบินแห่งชาติจะสูญเสียเครื่องบินไปถึงสองลำในเวลาเพียงไม่กี่เดือน" Bertrand Grabowski กรรมการผู้จัดการของดีวีบี แบงก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายธนาคารให้กับมาเลเซีย แอร์ไลน์ กล่าว

เช่นเดียวกับ Mohsin Aziz นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินจากเมย์แบงก์ ที่กล่าวแสดงความเห็นราวกับนัดกันมาว่า “มันเป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหาใดเปรียบ ในประวัติศาสตร์การบินที่ผ่านมานั้น ไม่เคยมีสายการบินใดเจอโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่สองครั้งติดๆกันในระยะเวลาเพียงสี่เดือน"

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับเที่ยวบิน MH370 และ MH17 นั้น มาเลเซีย แอร์ไลน์ ประสบปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว โดยสายการบินขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี และมูลค่าตลาดก็ร่วงลงกว่า 40% ในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่เที่ยวบิน MH370 สูญหายไปอย่างเป็นปริศนายิ่งผลักดันให้มาเลเซีย แอร์ไลน์ ต้องงัดมาตรการต่างๆมาใช้เพื่อพยุงสถานะทางการเงิน อาทิ ลดต้นทุนการดำเนินงาน และขายตั๋วเครื่องบินให้มากขึ้น โดยหลังเกิดเหตุการณ์ MH370 มาเลเซีย แอร์ไลน์ ได้เสนอค่าคอมมิชชั่นสูงกว่าปกติที่ 3% ให้กับบรรดาบริษัทนำเที่ยวหรือแทรเวลเอเจนซี่ เพื่อดึงลูกค้าให้กลับมาใช้บริการของสายการบิน และดูเหมือนว่าวิธีดังกล่าวจะได้ผล

โดยถึงแม้การอันตรธานหายไปอย่างมีเงื่อนงำของเที่ยวบิน MH370 ได้สร้างความขวัญหนีดีฝ่อให้กับผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้โดยสารอีกเป็นจำนวนมากเช่นกันที่ยังคงเลือกบินกับมาเลเซีย แอร์ไลน์

Simon Thomsen นักข่าวของแฟร์แฟกซ์ มีเดีย ของออสเตรเลีย เผยเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่า ครอบครัวของเขาไม่สามารถหาซื้อตั๋วของมาเลเซีย แอร์ไลน์ เพื่อเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์กลับมายังซิดนีย์ได้ เนื่องจากเที่ยวบินถูกจองเต็มทุกที่นั่ง นอกจากนี้ พนักงานของแฟร์แฟกซ์คนหนึ่งเผยว่า เขาเพิ่งเดินทางกลับจากลอนดอนด้วยเที่ยวบินของมาเลเซีย แอร์ไลน์ และรู้สึกประหลาดใจที่มีผู้โดยสารเต็มลำ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่มาเลเซีย แอร์ไลน์ กำลังเริ่มที่จะกลับมาฟื้นตัวในบางตลาด และดูเหมือนว่าอะไรๆกำลังจะดีขึ้น แต่ผลการดำเนินงานของสายการบินในตลาดจีนนั้นยังคงย่ำแย่อย่างมาก เนื่องจากนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ MH370 นักท่องเที่ยวชาวจีนต่างพากันพร้อมใจโบกมือลามาเลเซีย นอกจากนี้ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ และสายการบินอื่นๆที่มีเที่ยวบินไปมาเลเซียก็ยังถูกหางเลขไปด้วย

แล้วยิ่งเมื่อมาเกิดเหตุการณ์เที่ยวบินมรณะ MH17 ซึ่งผู้โดยสารและลูกเรือรวม 298 รายเสียชีวิตยกลำนั้น ก็ยิ่งเป็นการกระหน่ำซ้ำเติมให้มาเลเซีย แอร์ไลน์ ที่กำลังมีความหวังเล็กๆว่าจะพลิกฟื้นสถานะทางการเงินให้กลับคืนมาได้นั้น ต้องทรุดลงไปกองกับพื้นอีกครั้ง

โดยมาเลเซีย แอร์ไลน์ จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก อันเนื่องมาจากการจ่ายเงินชดเชยแก่ครอบครัวของผู้สูญหายหรือเสียชีวิต นอกจากนี้ ทางสายการบินยังต้องอัดงบการตลาด หากยังหวังว่าจะมีพื้นที่ยืนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป หลังจากที่ทางสายการบินได้พลาดโอกาสในการขึ้นราคาตั๋วเครื่องบินไปแล้วอย่างน่าเสียดาย ในช่วงที่ยอดขายพุ่งสูงก่อนหน้านี้

สำหรับในตอนนี้ "ผู้โดยสารจะยอมบินกับมาเลเซีย แอร์ไลน์ ก็ต่อเมื่อตั๋วเครื่องบินมีราคาถูกมากจริงๆ เท่านั้น" Mohsin จากเมย์แบงก์กล่าว

นักวิเคราะห์บางรายตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งถือครองหุ้นส่วนใหญ่ในมาเลเซีย แอร์ไลน์ จะยื่นมือเข้ามาอุ้มสายการบิน

นักวิเคราะห์การลงทุนจากเมย์แบงก์ ในกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า ความท้าทายที่มาเลเซีย แอร์ไลน์ กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้นั้น หนักหนาสาหัสเกินกว่าจะรับมือได้ หากไม่มีการเพิ่มทุนอย่างมีนัยสำคัญ สายการบินอาจจะอยู่ไม่พ้นปีนี้

"ก่อนเกิดเหตุการณ์ล่าสุดนี้ ผมก็หวั่นๆอยู่แล้วว่าสายการบินจะอยู่รอดไปถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2015 หรือไม่ สายการบินขาดทุนหนักมาก และเหตุการณ์นี้อาจเป็นตัวเร่งให้สายการบินล้มเร็วขึ้น

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1996 หลังจากเที่ยวบิน 800 ของสายการบินทรานส์ เวิลด์ แอร์ไลน์ ตกลงในมหาสมุทรใกล้กับนิวยอร์ก จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 230 คนนั้น ห้าปีต่อมาสายการบินก็ได้ยื่นล้มละลาย และถูกอเมริกัน แอร์ไลน์ ซื้อกิจการไปในที่สุด

Sidney Dekker ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบินจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ กล่าวว่า สำหรับบริษัทที่มีปัญหาอยู่แล้วนั้น เหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐ

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์จากเมย์แบงก์กล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียคงไม่ยอมปล่อยให้มาเลเซีย แอร์ไลน์ สูญสิ้นชื่อไปจากวงการ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการทำลายความภาคภูมิใจของมาเลเซีย โดยเขาเชื่อว่ารัฐบาลอาจหาทางเข้าแทรกแซงกิจการโดยตรง หรือผ่านทางบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติอย่าง Khazanah Nasional Berhad ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในมาเลเซีย แอร์ไลน์

เมื่อต้นเดือนนี้มีรายงานว่า บริษัทการลงทุนของรัฐบาลมาเลเซีย Khazanah Nasional Bhd มีแผนที่จะแปรรูป MAS ให้เป็นเอกชน โดยเป็นก้าวแรกอันจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างบริษัท

Khazanah Nasional ได้ลงทุนกับสายการบินไปมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และแย้มว่าอาจมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ในขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า การลงทุนเพิ่มเติมต่อจากนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้สายการบินอยู่รอดต่อไปได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวนั้น ยังไม่มีใครบอกได้

“การสนับสนุนจากรัฐบาลจะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น และอาจจะต้องเป็นเงินก้อนใหญ่มากด้วย" Bertrand Grabowski หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการบินที่ดีวีบี แบงก์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นนายธนาคารของมาเลเซีย แอร์ไลน์ กล่าว

Liao Tiong Lai รัฐมนตรีคมนาคมของมาเลเซีย ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของสายการบินในการแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ MH17 ถูกยิงตกเมื่อวันศุกร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนละประเด็นกัน

ใครผิด

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ MH370 มาเลเซีย แอร์ไลน์ และรัฐบาลมาเลเซีย ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะจีนที่แสดงความไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากชาวจีนกว่า 150 คนได้สูญหายไปพร้อมกับเที่ยวบินล่องหนดังกล่าว ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าอาจจะใช่ความผิดหรือไม่ใช่ความผิดของสายการบินและรัฐบาลมาเลเซีย เพราะไม่ว่าสายการบินหรือประเทศใดก็คงรับมือไม่ถูก หากต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำเช่นนี้ แต่ถึงกระนั้นญาติของผู้สูญหายยังคงกล่าวโทษมาเลเซีย แอร์ไลน์ และรัฐบาลมาเลเซีย เกี่ยวกับการให้ข้อมูลที่สับสนและขัดแย้งกัน

ความรู้สึกแง่ลบที่มีต่อมาเลเซีย แอร์ไลน์ ยิ่งถูกตอกย้ำอีกครั้ง จากเหตุการณ์เที่ยวบิน MH17 ถูกกลุ่มกบฏในยูเครนยิงตก โดยที่ท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์เมื่อคืนวันพฤหัสบดีนั้น บรรดาญาติๆได้เรียกร้องขอดูรายชื่อผู้โดยสาร แต่กลับไม่พบเจ้าหน้าที่ของสายการบินคอยให้ความช่วยเหลือ

"เรารอมาสี่ชั่วโมงแล้ว เรารู้ข่าวจากสื่อต่างประเทศ เฟซบุ๊กยังมีประสิทธิภาพกว่า MAS เสียอีก" ชายหนุ่มผู้หนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวด้วยความโกรธเกรี้ยว

นอกจากความสามารถในการรับมือกับวิกฤตแล้ว สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายคลางแคลงใจเกี่ยวกับ มาเลเซีย แอร์ไลน์ ก็คือ การเลือกเส้นทางบินของสายการบิน หลังจากมีข่าวว่าสายการบินอื่นบางแห่งได้หลีกเลี่ยงการบินผ่านบริเวณนี้มาหลายเดือนแล้ว

คาเธ่ย์ แปซิฟิก, แควนตัส และสองสายการบินใหญ่ของเกาหลี ได้ระงับการบินผ่านน่านฟ้าของยูเครนเมื่อหลายเดือนก่อน ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย

"แม้การบินอ้อมจะทำให้ต้องเสียเวลาและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่เราก็ทำเพื่อความปลอดภัย และเราจะใช้เส้นทางบินอ้อมสำหรับสำหรับเที่ยวบินขนส่งสินค้าของเราไปจนกว่าสถานการณ์ในยูเครนจะสิ้นสุดลง" โฆษกหญิงของเอเชียนา แอร์ไลน์ กล่าวกับรอยเตอร์

อย่างไรก็ดี มาเลเซีย แอร์ไลน์ ได้ออกมาปกป้องตนเองในเรื่องนี้ โดยในการแถลงเมื่อวันศุกร์ที่แล้วนั้น ทางสายการบินได้ระบุว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ประกาศว่าเส้นทางบินดังกล่าวมีความปลอดภัย ขณะที่สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ก็ระบุว่า น่านฟ้าที่เครื่องบินบินผ่านนั้นไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการใช้น่านฟ้า

นอกจากนี้ แม้สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐ (FAA) ได้เตือนสายการบินอเมริกันเกี่ยวกับการบินเหนือคาบสมุทรไครเมีย แต่ก็ไม่ได้มีการออกคำเตือนดังกล่าวในบริเวณที่ MH17 ถูกยิงตก โดยทางการยูเครนได้สั่งปิดน่านฟ้าที่ระดับ 32,000 ฟุต (9,750 เมตร) แต่ MH17 บินสูงกว่านั้น 1,000 ฟุต

แม้เหตุการณ์หายนะที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบิน MH370 และ MH17 จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ก็มีสิ่งเชื่อมโยงหลายสิ่งที่ทำให้สองเหตุการณ์นี้เป็นเหตุบังเอิญที่น่าขนลุก และยากจะหาเหตุผลมาอธิบาย

"ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันมาก แถมยังเกิดกับสายการบินเดียวกัน เครื่องบินประเภทเดียวกัน นอกจากนี้ การตกของเครื่องบินทั้งสองลำยังต่างไปจากปกติ เพราะโดยทั่วไปอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดในขณะที่เครื่องบินใกล้ลงจอด หรือหลังจากที่เพิ่งเทคออฟได้ไม่นาน ทั้งสองเหตุการณ์นี้จึงต่างก็มีองค์ประกอบที่เป็นปริศนา" Sidney Decker ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยการบินจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธกล่าว พร้อมกับเสริมว่า หากเราแยกสองเหตุการณ์นี้ออกจากกัน ก็จะเห็นว่าทั้งสองเหตุการณ์นั้นแทบไม่เกี่ยวข้องกัน นอกจากความเชื่อมโยงอย่างบังเอิญดังที่กล่าวมาข้างต้น

"คำถามที่ว่า 'มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับมาเลเซีย แอร์ไลน์ อย่างนั้นหรือ?' ถือเป็นคำถามที่ป่วยการจะถาม และเปล่าประโยชน์ที่จะคิด" Dekker กล่าว "มันเป็นเรื่องของความบังเอิญอย่างแท้จริง ผมเพิ่งบินผ่านน่านฟ้าของยูเครนกับลูกสาวเมื่อไม่นานมานี้ มันอาจเป็นเราก็ได้"

Mohsin Aziz นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินจากเมย์แบงก์กล่าวว่า "ไม่สำคัญว่าใครผิด แต่สิ่งที่ลูกค้ารับรู้คือ 'ฉันไม่ต้องการบินกับมาเลเซีย แอร์ไลน์อีกต่อไปแล้ว' และการเอาชนะความคิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ