OECD แนะญี่ปุ่นออกมาตรการรองรับผลกระทบจากแผนขึ้นภาษีรอบ 2 ในปี 58

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 22, 2014 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรินทาโร ทามากิ รองเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) แนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบจากการขึ้นภาษีการบริโภคเพิ่มเติมในช่วงเดือนต.ค. 2558

นายทามากิเปิดเผย ณ สโมสรสื่อมวลชนแห่งชาติญี่ปุ่น (JNPC) ในวันนี้ว่า จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหยุดชะงักหลังจากที่มีการปรับขึ้นภาษีจาก 3% เป็น 8% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นมา จึงเป็นเรื่องที่"แน่นอน"ว่า การขึ้นภาษีตามกำหนดเป็น 10% ในปีหน้าจะสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

รองเลขาธิการ OECD แนะนำให้นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ เดินหน้าขึ้นภาษีต่อเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการคลัง และชี้ว่า ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการปรับภาษีนั้น สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยใช้มาตรการระยะสั้น โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม อดีตรมว.การคลัง ด้านกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่นท่านนี้ระบุว่า "OECD ไม่แนะนำให้ใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลังขนานใหญ่" เนื่องจากการขึ้นภาษีมีเป้าหมายที่ครอบคลุมต้นทุนสวัสดิการสังคมที่สูงขึ้นในขณะที่ประชากรเข้าสู่ภาวะสูงวัย และเพื่อฟื้นฟูสถานะทางการคลังของประเทศ ซึ่งย่ำแย่ที่สุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว

นายทามากิกล่าวว่า "บีโอเจควรกำหนดฉันทามติโดยเร็วเพื่อที่จะคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน" ภายหลังปี 2558 โดยมุ่งเน้นไปที่การขึ้นภาษีระยะที่ 2 จากการปรับขึุ้นภาษีแบบ 2 ระยะ

ทั้งนี้ ความเห็นของรองเลขาธิการ OECD มีขึ้นภายหลัง OECD ออกรายงานประเมินภาวะเศรษฐกิจฉบับชั่วคราว ซึ่งปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2557 สู่ระดับ 0.9% จากระดับ 1.2% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนพ.ค. และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจปี 2558 เป็น 1.1% จากระดับ 1.3% สำนักข่าวเกียวโดรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ