ทำเนียบขาวหวังรัฐบาล-คองเกรสประนีประนอมปฏิรูปกฏหมายภาษีธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2015 23:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทำเนียบขาวเปิดเผยในวันนี้ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐและสภาคองเกรสจะสามารถประนีประนอมกันเกี่ยวกับการปฏิรูปกฏหมายภาษีธุรกิจ

นายแจ็ค ลูว์ รมว.คลังสหรัฐ ได้เข้าพบปะกับสมาชิกสภาคองเกรสในวันนี้เพื่อชี้แจงข้อเสนอของทำเนียบขาวในการขึ้นภาษีคนรวย และจัดเก็บภาษีใหม่ต่อบริษัทสหรัฐที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศเพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ในการใช้จ่ายโครงการต่างๆ เช่น การศึกษา และการก่อสร้างถนน

เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามายื่นงบประมาณวงเงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่สภาคองเกรส โดยหวังที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีจากคนรวยและภาคธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ดี งบประมาณดังกล่าวอาจไม่ผ่านสภาคองเกรสที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก

การยื่นงบประมาณดังกล่าวของปธน.โอบามาคาดว่าจะสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่กับสภาคองเกรสที่มีพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก และมีนโยบายสนับสนุนภาคธุรกิจ โดยทางพรรคกล่าวหาปธน.โอบามาว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญความเสี่ยงจากการขึ้นภาษี และเพิ่มการใช้จ่าย โดยละเลยการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของงบประมาณ ซึ่งก็คือ การใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากโครงการสวัสดิการของรัฐบาล

ทั้งนี้ ปธน.โอบามาต้องการเพิ่มการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยนำรายได้มาจากการเก็บภาษีต่อกำไรของบริษัทสหรัฐที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศ

งบประมาณดังกล่าว ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐขาดดุล 4.74 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ปธน.โอบามายังเสนอให้มีการเก็บภาษีครั้งใหม่ต่อสถาบันการเงินที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยข้อเสนอดังกล่าวระบุว่า จะมีการจัดเก็บภาษี 0.07% ต่อหนี้สินของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2016 และถ้าสถาบันการเงินใดมีสินทรัพย์ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็จะไม่เข้าข่ายถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว

ทำเนียบขาวระบุว่า การเก็บภาษีหนี้สินของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ราว 100 แห่ง ซึ่งรวมถึงธนาคาร, ผู้จัดการสินทรัพย์, โบรกเกอร์ และดีลเลอร์ จะทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการก่อหนี้ลง และจะทำให้รัฐบาลสามารถระดมเงินทุนได้ราว 1.12 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปีเพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งได้แก่การลดหย่อนภาษีสำหรับคนงานที่มีรายได้ปานกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ