World Today: สรุปข่าวต่างประเทศประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2016 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนพ.ค.ร่วงลง 11.3% เทียบรายปี เนื่องจากอุปสงค์สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินเยนและเศรษฐกิจที่ซบเซาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

--นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เปิดเผยว่า ฝ่ายที่สนับสนุนอังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) นั้นมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกที่จะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ทั้งในเรื่องของกระแสต่อต้านการอพยพ และบางประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้น

--นายโดนัลด์ ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ ซันเดย์ ไทมส์ พร้อมกับได้แสดงความคิดเห็นว่า อังกฤษควรออกจากการเป็นสมาชิก EU

--เจ้าหน้าที่ EU เตรียมการจัดประชุมฉุกเฉินกรณีอังกฤษลงมติแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) เพื่อบรรเทาความผันผวนของตลาดการเงิน และป้องกันปรากฏการณ์ลูกโซ่ในสภาวะเศรษฐกิจอ่อนไหว

--นายรากุราม ราจัน ผู้ว่าธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่มีเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูเรื่องความแตกแยกกับพรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล โดยผู้ว่าแบงก์ชาติอินเดียวางแผนที่จะกลับเข้าสู่วงการศึกษา แม้ว่า จะดำรงตำแหน่งได้เพียง 1 สมัยก็ตาม

--นักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนลีย์ เตือนว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเผชิญภาวะถดถอยรุนแรงเหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 ซึ่งมีสาเหตุมาจากหนี้สินที่สูงขึ้น ปัญหาเงินฝืด และอัตราผลตอบแทนที่ลดน้อยลง

--ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศอัดฉีดเงิน 1.7 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ตลาดในวันนี้ เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยดำเนินการผ่านทางข้อตกลงซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repo) อายุ 7 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ธนาคารกลางเข้าซื้อหลักทรัพย์จากธนาคารพาณิชย์ด้วยข้อตกลงที่จะขายคืนในอนาคต

--กระทรวงการคลังเยอรมนีเผย เศรษฐกิจประเทศเริ่มต้นไตรมาสสองได้อย่างสดใส และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก ถึงแม้จะมีอัตราช้ากว่าในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม

--เจ้าหน้าที่หน่วยงานจัดการภัยพิบัติอินโดนีเซียกล่าวว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มอยู่ที่ 43 คน สูญหายอีกกว่า 19 คน หลังเริ่มปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตอีกครั้งในวันจันทร์ด้วยความช่วยเหลือของบรรดาเจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายร้อยคน

--นายเอซึเกะ ซากากิบาระ อดีตรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า หากค่าเงินเยนพุ่งทะลุ 100 เยน ธนาคารกลางญี่ปุ่นก็อาจจะเข้าแทรกแซง แต่ในการเข้าแทรกแซงตลาด คุณจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐ แต่หากทะลุ 100 และยังพุ่งไปสู่ระดับ 90 ก็มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นอาจจะเห็นชอบให้เข้าแทรกแซง

--กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นดำเนินการปรับแก้ไขนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หรือที่เรียกว่าอาเบะโนมิกส์ โดยเสนอให้หันไปส่งเสริมนโยบายสร้างรายได้และตลาดแรงงานเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ