ที่ประชุมขุนคลัง G20 เห็นพ้องร่วมส่งเสริมการค้าเสรี หนุนเศรษฐกิจโลกเติบโตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday April 22, 2017 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 ประเทศ หรือ G20 ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของนโยบายกีดกันการค้าทั่วโลก และเห็นพ้องต้องกันที่จะแสวงหาหนทางในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตอย่างอย่างยืน ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติของกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสองวันในกรุงวอชิงตันนั้น นายโวลฟ์กัง ชอยเบิล ขุนคลังของเยอรมนีในฐานะของประธาน G20 ได้ออกมากล่าวเตือนว่า การขยายตัวของนโยบายกีดกันทางการค้าทั่วโลก อาจบั่นทอนเสถียรภาพและฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

นายชอยเบิล กล่าวยืนยันต่อสื่อมวลชนด้วยว่า ฉันทามติของที่ประชุม G20 ยังไม่แปรเปลี่ยน โดยยังคงยึดถือหลักการที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันในที่ประชุม G20 ครั้งก่อนที่เยอรมนีในเดือนมี.ค.

ขณะที่นายเยนส์ ไวด์แมนน์ ประธานธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ได้แสดงความเห็นว่า "ผู้ร่วมประชุมเกือบทุกฝ่ายต่างเล็งเห็นความสำคัญของตลาดเสรี และการส่งเสริมให้เปิดเสรีทางการค้า"

ส่วนนายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น กล่าวว่า การค้าเสรีมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า การที่รัฐบาลสหรัฐมุ่งยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ได้หมายความว่า สหรัฐจะปฏิเสธการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศอื่นๆแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม G20 ครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมของคณะทำงานก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่จะจัดขึ้นในเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในเดือนก.ค. ขณะที่หลายฝ่ายจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นการประชุมซัมมิต G20 ครั้งแรกนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งคาดกันว่า หัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับประเด็นการค้า

กลุ่มประเทศ G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล อังกฤษ แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐ และสหภาพยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ