Spotlight: ปากีสถานไม่พอใจ หลังถูก "ทรัมป์" กล่าวหาเป็นต้นเหตุความไม่สงบในอัฟกานิสถาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 24, 2017 14:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปากีสถานได้แสดงความผิดหวังต่อยุทธศาสตร์เอเชียใต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ซึ่งบรรดาผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอิสระต่างอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการยืนกรานที่จะใช้กำลังทางทหารในอัฟกานิสถาน

ทรัมป์กล่าวในระหว่างการแถลงยุทธศาสตร์ในอัฟกานิสถานเมื่อว่า "ปากีสถานมักให้ที่พึ่งพิงแก่เหล่าผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มตาลีบัน และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้ และภูมิภาคต่างๆ เราไม่สามารถปิดปากเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อีกต่อไปแล้ว ปากีสถานได้รับประโยชน์มากมายจากการร่วมมือกับสหรัฐในการขจัดภัยก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน แต่ปากีสถานจะต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หากยังให้ที่พึ่งพิงกับเหล่าอาชญากร"

ท่าทีของนายทรัมป์ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในปากีสถานอย่างกว้างขวาง โดยชาวปากีสถานส่วนใหญ่เชื่อว่าทรัมป์มองข้ามความเสียสละของปากีสถานที่ส่งทหารไปสู้รบและเสียชีวิตในสงครามเกือบ 73,000 ชีวิต นอกจากนี้ชาวปากีสถานยังมีความกังวลเกี่ยวกับจุดยืนของทรัมป์ต่อบทบาทของอินเดียในประเทศอัฟกานิสถาน ในช่วงที่ปากีสถานถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน

ในการแถลงครั้งนี้ ทรัมป์ได้กล่าวยกย่องอินเดียถึงการมีส่วนร่วมในการสร้างเสถียรภาพในอัฟกานิสถาน พร้อมย้ำว่าสหรัฐต้องการให้อินเดียช่วยแก้ปัญหาก่อการร้ายในอัฟกานิสถานด้วย

ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองและความมั่นคงต่างชี้ว่า ทรัมป์ไม่สามารถหาแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาของอัฟกานิสถานได้ จึงยืนกรานที่จะใช้วิธีการทางทหารเป็นตัวเลือก

ด้านนายมูชาฮิด ฮัสซาอิน ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งวุฒิสภาอัฟกานิสถาน ระบุว่า ทรัมป์กำลังดำเนินนโยบายไปในทางที่ผิด เพราะแม้ว่าจะเพิ่มจำนวนทหารอีก 5 พันนายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆได้ ดังเช่นที่เคยมีทหารอเมริกันประจำการในอัฟกานิสถานถึง 1 แสนนายเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ภายใต้รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

"นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ดูเหมือนว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายต่ออัฟกานิสถานในแบบเดิมๆ ผมเคยหวังว่าเขาจะไม่ทำผิดซ้ำๆ เหมือนดังเช่นที่ประธานาธิบดีคนก่อนๆเคยทำมา ส่วนการที่ทรัมป์นำอินเดียเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวละครนั้น อาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อจุดยืนของปากีสถานในอัฟกานิสถาน ในอนาคต" นายฮัสซาอินกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว

อิชาค อาห์เหม็ด อดีตนายทหารกองพัน ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองและการศึกษาความมั่นคงระหว่างประเทศของสถาบันเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์แห่งเอเชียใต้ในกรุงอิสลามาบัด ระบุว่า ทรัมป์กำลังมองหาทางออกโดยการกล่าวโทษและข่มขู่ปากีสถาน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ส่งผลดีใดๆเลย

"การนำสันติภาพมาสู่กองทัพอาจไม่ได้เป็นคำตอบของวิกฤติอัฟกานิสถานที่มีมาอย่างยาวนาน สหรัฐต้องร่วมมือกับกลุ่มตาลีบันเพื่อยุติสงครามที่ยืดเยื้อมาถึง 16 ปี ซึ่งสหรัฐไม่เคยได้รับชัยชนะเลย และยิ่งสหรัฐบังคับใช้ยุทธศาสตร์แบบเดิมๆด้วยแล้ว เราอาจไม่เห็นสันติภาพเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้อีก ส่วนการให้อินเดียเข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถานมากขึ้นนั้น คือความโง่เขลาอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่งของสหรัฐ" อาห์เหม็ดกล่าว พร้อมอ้างถึงข้อเรียกร้องในปี 2544 ที่ปากีสถานเคยยืนยันให้สหรัฐจำกัดบทบาทของอินเดีย มิฉะนั้นจะเกิดการต่อต้านจากทั้งปากีสถานและอัฟกานิสถาน

สำหรับความขุ่นเคืองของฝั่งปากีสถานที่มีต่อทรัมป์นั้น ยังสะท้อนผ่านคำแถลงของนายพลความาร์ จาเวด บาจวา ที่กล่าวกับเอกอัคราชฑูตสหรัฐประจำปากีสถานว่า ปากีสถานไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือจากสหรัฐ แต่ต้องการการยอมรับที่เหล่าทหารหาญได้สละชีพในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ทั้งนี้ ชาวปากีสถานยังคงมีความกังวลต่อยุทธศาสตร์ของทรัมป์ ในช่วงเวลาที่ปากีสถานเองกำลังเผชิญกับความท้าทายของภัยก่อการร้ายและความรุนแรง หลังจากกองทัพสหรัฐปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มตาลีบันตั้งแต่เดือนต.ค. 2544

บทวิเคราะห์โดย มูฮัมหมัด ตาฮีร์ จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ