สหรัฐแซงหน้าฮ่องกง ผงาดเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 24, 2018 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบัน IMD ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกประจำปีนี้ ซึ่งผลปรากฏว่า สหรัฐอเมริกากลับมาทวงบัลลังก์อันดับ 1 อีกครั้ง โดยได้ปัจจัยหนุนจากความแข็งแกร่งของสภาวะเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน

ประเทศเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดห้าอันดับแรกในปีที่แล้วนั้น ยังคงอยู่ครบในปีนี้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงอันดับ โดยสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นสามขั้นจากอันดับ 4 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 1 ในปีนี้ เขี่ย ฮ่องกง แชมป์เก่าปีที่แล้ว ลงไปอยู่ในอันดับที่ 2 ตามด้วยสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์

รายงานการจัดอันดับ 2018 IMD World Competitiveness Rankings ยังคงเน้นย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มระยะยาวที่ว่า ประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ ของรายงานนั้น ต่างมีแนวทางของตนเองในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยการกลับขึ้นมาเป็นที่หนึ่งอีกครั้งของสหรัฐอเมริกานั้น ได้รับปัจจัยผลักดันจากความแข็งแกร่งในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ซึ่งสหรัฐครองอันดับ 1 ในสองหัวข้อนี้ ขณะที่ฮ่องกงใช้แนวทางที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป โดยเน้นไปที่ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ซึ่งฮ่องกงมาเป็นอันดับ 1 ในสองปัจจัยนี้

ด้านเนเธอร์แลนด์ขยับขึ้นหนึ่งขั้นมาอยู่ในอันดับที่ 4 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์หล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 5 การขยับอันดับขึ้นของเนเธอร์แลนด์แสดงให้เห็นว่า ประเทศใช้แนวทางที่ "สมดุล" ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเนเธอร์แลนด์ติด 10 อันดับแรกในด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐและภาคธุรกิจ ส่วนการลดอันดับลงสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีสาเหตุหลักมาจากส่งออกที่ชะลอตัว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการย้ายสถานที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนาต่าง ๆ

เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน อยู่ในอันดับที่ 6, 8 และ 9 ตามลำดับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยู่ในอันดับที่ 7 และแคนาดาปิดท้ายในอันดับที่ 10

สำหรับประเทศเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ได้แก่ ออสเตรีย ในอันดับที่ 18 และจีน อันดับที่ 13 ซึ่งศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการ IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า "การเติบโตทางเศรษฐกิจ หนี้รัฐบาลที่ลดลง และผลิตภาพทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ออสเตรียสามารถไต่อันดับขึ้นมาได้ ส่วนจีนนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่จับต้องไม่ได้ ตลอดจนกับการปรับปรุงภาคสถาบันในบางแง่มุม อาทิ กรอบการทำงานด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ได้ช่วยส่งเสริมสมรรถนะของประเทศ"

ศ.บริสตั้งข้อสังเกตว่า "ผลการจัดอันดับปีนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มที่สำคัญของความสามารถในการแข่งขันในภาพรวม นั่นคือ ประเทศต่าง ๆ ใช้แนวทางที่แตกต่างกันในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน" พร้อมกล่าวต่อไปว่า "ประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ล้วนมีสมรรถนะเหนือกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัยชี้วัด แต่การผสมผสานปัจจัยต่าง ๆ นั้นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศหนึ่งอาจสร้างกลยุทธ์การแข่งขันที่เจาะจงไปในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน ขณะที่อีกประเทศอาจใช้แนวทางเพิ่มความสามารถในการแข่งขันผ่านทางประสิทธิภาพของภาครัฐ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ