In Focusเลอโนโว ทุ่มทุนรุกตลาดสมาร์ทโฟน และเซิร์ฟเวอร์ กว้านซื้อโมโตโรล่า-ไอบีเอ็ม

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday February 5, 2014 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลอโนโว บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนยังสามารถรักษาแชมป์อันดับ 1 ในการครองส่วนแบงตลาดพีซีทั่วโลกได้มากถึง 18.1% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากยอดจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น 6.6% สวนทางกับข้อมูลจากบริษัท การ์ทเนอร์ อิงค์ ที่ชี้ว่า สถานการณ์ตลาดพีซีในปัจจุบันกำลังเข้าสู่ปีที่ตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยยอดการจัดจำหน่ายในอุตสาหกรรมลดลงถึง 10% ในปี 2556 ขณะที่ฮิวเลตต์-แพคการ์ดตามมาติดๆในอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดพีซี 16.4% ซึ่งอาจเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ยักษ์ใหญ่พีซีอย่าง “เลอโนโว" หันมาจับกิจการสมาร์ทโฟน และเซิร์ฟเวอร์ และเข้าซื้อกิจการไอทีระหว่างประเทศชนิดที่ได้รับการขนานว่า เป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดของเลอโนโว

การซื้อกิจการสมาร์ทโฟน-เซิร์ฟเวอร์ครั้งใหญ่ของเลอโนโว

ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 สัปดาห์ เลอโนโว กรุ๊ป ได้ประกาศการเข้าซื้อกิจการชั้นนำถึง 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่ โมโตโรล่า โมบิลิตี้ และไอบีเอ็ม รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา เลอโนโวตกลงซื้อกิจการกิจการแฮนด์เซ็ทของโมโตโรล่า โมบิลิตี้ จากกูเกิลในราคา 2.91 พันล้านดอลลาร์ โดยจะจ่ายเงินประมาณครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 หลังจากทำสัญญาเสร็จสิ้น การยืดระยะเวลาการจ่ายเงินในครั้งนี้เป็นความต้องการของเลอโนโว ซึ่งกูเกิลก็ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากเลอโนโวกำลังจะจ่ายเงินสำหรับการเข้าซื้อกิจการให้กับไอบีเอ็มเช่นกัน

เมื่อเดือนมีนาคม 2555 กูเกิลเข้าซื้อกิจการโมโตโรล่าด้วยเงินทุนทั้งสิ้น 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของกูเกิล เนื่องจากกูเกิลต้องการรวบรวมสิทธิบัตรต่างๆขณะที่บริษัทได้ผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อแข่งกับไอโฟนของแอปเปิล

เบร็ต แม็คโกเนกัล ผู้อำนวยการจัดการฝ่ายบริหารบริษัทที่ปรึกษา รีโอเรียนท์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง ระบุว่า “หากคุณเป็นกูเกิล และต้องการขายกิจการนี้ เงินอาจเป็นสิ่งจูงใจในการทำข้อตกลง เห็นได้ชัดว่า กูเกิลพยายามที่จะขายกิจการนี้"

ในเวลาไล่เลี่ยกัน บริษัทเลอโนโว กรุ๊ป จำกัดยังได้เข้าซื้อกิจการเซิร์ฟเวอร์ราคาถูกของอินเตอร์เนชั่นแนล บิสิเนส แมชีนส์ คอร์ป หรือ ไอบีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านสารสนเทศรายใหญ่ของโลก ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เลอโนโวซื้อกิจการเซิร์ฟเวอร์ x86 ของไอบีเอ็ม มูลค่า 2.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งประกอบด้วยเงินสดประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ และส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นหุ้นของบริษัทเลอโนโวในปักกิ่ง

หยาง หยวนจิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเลอโนโว กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า เลอโนโวสนใจโมโตโรล่ามานานแล้ว ถึงขนาดเคยแข่งกับกูเกิลเพื่อซื้อกิจการโมโตโรล่าเมื่อปี 2554 แต่ไม่สำเร็จ

แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากที่กูเกิลสามารถซื้อกิจการโมโตโรล่าไปได้ หยาง หยวนจิง ได้พูดคุยกับอีริค ชมิดท์ ประธานของกูเกิลว่า หากเมื่อใดกูเกิลต้องการขายกิจการฮาร์ดแวร์ของโมโตโรล่า ขอให้บอกเลอโนโว และเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้เอง อีริค ชมิดท์ ก็ได้เริ่มเจรจาเรื่องธุรกิจแฮนด์เซ็ทของโมโตโรลทากับหยาง หยวนจิง อย่างจริงจัง

หวง ไหว หมิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของเลอโนโว เปิดเผยว่า บริษัทมีเงินสดในบัญชีงบดุลกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ และพยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินล่วงหน้า โดยเสนอหุ้นให้แก่ไอบีเอ็ม และกูเกิล เพื่อถือเป็นการชำระเงินส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ เลอโนโวจะชำระเงินสดสำหรับการซื้อกิจการทั้ง 2 แห่งเป็นมูลค่าทั้งหมดประมาณ 2.8 พันล้านดอลลาร์

เลอโนโวจะจ่ายเงินสดให้แก่กูเกิล 660 ล้านดอลลาร์ รวมถึงหุ้นของเลอโนโวรวมมูลค่าประมาณ 750 ล้านดอลลาร์ นอกเหนือไปจากเงินจำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์ที่ตกลงไว้ว่า จะต้องจ่ายภายในระยะเวลา 3 ปีหลังจากตกลงทำสัญญา ดังนั้น กูเกิลจะถือหุ้นของเลอโนโวประมาณ 4.6%-5.6% ภายหลังการทำข้อตกลงแล้ว ซึ่งจำนวนหุ้นนั้นจะขึ้นอยู่กับราคาหุ้น

เลอโนโว เลือกใช้แพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับแฮนด์เซ็ทของโมโตโรล่า และใช้สัญลักษณ์ของแบรนด์จากสหรัฐ ซึ่งถือเป็นส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมสำหรับเลอโนโวมากกว่าแบล็คเบอรี่ เลอโนโวเคยพิจารณาข้อตกลงร่วมกับแบล็คเบอรี่เมื่อเดือนมกราคมปี 2556 ก่อนที่แบล็คเบอรี่จะพยายามขายกิจการของตนเอง

หยาง หยวนจิง กล่าวว่า "เราไม่อยากจะมีแฟนหลายคน" และ "ขณะนี้ เลอโนโว ซึ่งอยู่ในระหว่างการจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาของโมโตโรล่า ก็ได้ข้อตกลงซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทต้องการแล้ว"

ขณะที่กูเกิลไม่ได้รู้สึกกดดันกับการขายกิจการโมโตโรล่า ซึ่งมีคู่แข่งอย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องการซื้อโมโตโรล่าเช่นกัน กูเกิลเชื่อมั่นว่า เลอโนโวมีโอกาสที่ดีกว่าในการพัฒนาแบรนด์โมโตโรล่า ขณะเดียวกัน กูเกิลจะยังคงธุรกิจการวิจัยและพัฒนาของโมโตโรล่าไว้ เนื่องจากมองว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์เทคโนโลยีสำหรับสมาร์ทโฟนในอนาคต

ทั้งนี้ กูเกิลจะได้รับค่าชดเชยหากมีการยกเลิกสัญญาซื้อกิจการโมโตโรล่ามากกว่าค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปที่อยู่ระดับประมาณ 3.5% แม้จะไม่มากเท่ากับค่าปรับที่เลอโนโวจะต้องเสียให้กับไอบีเอ็มหากมีการยกเลิกสัญญา ซึ่งเลอโนโวยินยอมที่จะจ่ายค่าปรับยกเลิกสัญญาให้แก่ไอบีเอ็มประมาณ 8%-9% ของราคาซื้อเลยทีเดียว

การเข้าซื้อกิจการทั้ง 2 แห่งในเวลาเดียวกันถือเป็นความพยายามที่ค่อนข้างเสี่ยงที่ต้องการก้าวข้ามธุรกิจคอมพีซีที่กำลังซบเซาไปสู่กิจการเทคโนโลยีที่กว้างขวางมากขึ้น โดยความท้าทายครั้งใหม่ของเลอโนโวคือ การโน้มน้าวกลุ่มนักลงทุนให้เชื่อมั่นว่า เลอโนโวจะสามารถชำระเงินสำหรับการซื้อกิจการครั้งใหญ่ทั้ง 2 แห่งนี้ได้ภายในเวลาไล่เลี่ยกันโดยปราศจากปัญหา

หยาง หยวนจิง ระบุว่า การบุกตลาดอเมริกาเหนือจะช่วยให้เขาคาดการณ์แนวทางการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่สมาร์ทโฟนอย่างแอปเปิล อิงค์ และซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคู่แข่งเซิร์ฟเวอร์อย่างเดล อิงค์ และฮิวเลตต์-แพคการ์ดได้ดียิ่งขึ้น

เขากล่าวว่า “เราหวังจะเป็นบริษัทระดับโลก ที่มีกิจการอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแค่ในจีนอย่างที่เป็นอยู่ และตลาดเกิดใหม่ก็ยังไม่พอ"

หยาง หยวนจิง ยังเปิดเผยอีกว่า เขายังไม่มีแผนที่จะเลิกจ้างพนักงานหลังจากการซื้อกิจการดังกล่าว และจะยังคงให้ศูนย์กลางการผลิตโทรศัพท์มือถืออยู่ในชิคาโก้ต่อไป ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 โมโตโรล่ามีพนักงานทั้งหมด 4,259 คน เลอโนโวจะยังคงใช้ชื่อแบรนด์โมโตโรล่าในสหรัฐ และละตินอเมริกา และอาจจะใช้ชื่อโมโตโรล่าในจีนด้วย บริษัทวางแผนการจำหน่ายสมาร์ทโฟนให้ได้ 100 ล้านเครื่อง ภายใน 1 ปีหลังจากการทำสัญญาซื้อกิจการ

การควบรวมกิจการของเลอโนโวจะเป็นไปในทิศทางใด คงต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวกันต่อไป และกิจการเซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็มจะก้าวขึ้นสู่แท่นผู้นำคู่กับเลอโนโวได้หรือไม่เป็นอีกสถานการณ์ที่ต้องติดตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ