รองนายกฯจีนเผยจีน-สหรัฐเห็นพ้องไม่เปิดฉากสงครามการค้า

ข่าวการเมือง Sunday May 20, 2018 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีของจีนและผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เปิดเผยว่า จีนและสหรัฐบรรลุฉันทามติในประเด็นเศรษฐกิจและการค้า พร้อมให้คำมั่นว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่เข้าร่วมในสงครามการค้าใดๆ

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายหลิว ซึ่งเป็นสมาชิกโปลิตบูโรแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายจีนสำหรับการเจรจาเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐ - จีนเดินทางถึงกรุงวอชิงตันตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่แล้ว เพื่อเจรจากับสหรัฐในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจและการค้า ตามคำเชิญรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์

นายหลิวเปิดเผยกับสื่อมวลชนระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะไม่เปิดฉากสงครามการค้าขึ้นและจะยุติมาตรการตอบโต้ทางการค้าด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันด้วย

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายจะเพิ่มความร่วมมือทางการค้าในด้านต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ผลผลิตทางการเกษตร สาธารณสุข ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีระดับสูงและด้านการเงิน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีจีนเสริมว่า ความร่วมมือลักษณะนี้เป็นทางเลือกที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในระดับสูง ทั้งยังตอบสนองความต้องการของประชาชน และลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ

ขณะเดียวกันจีนและสหรัฐจะส่งเสริมความร่วมมือในด้านการลงทุนร่วมกัน และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนายหลิวระบุว่า ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แต่ยังช่วยสนับสนุนเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจและการค้าโลก

รองนายกรัฐนตรีจีนยังย้ำว่า จีน ซึ่งมีประชากรชนชั้นกลางขนาดใหญ่ จะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตลาดจีนจะมีการแข่งขันสูงมาก ดังนั้นประเทศต่างๆที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีน จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการเพื่อดึงดูดลูกค้าชาวจีน โดยจีนพร้อมที่จะซื้อสินค้า ไม่เฉพาะจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่จากทั่วโลก

ทั้งนี้ นายหลิวกล่าวทิ้งท้ายว่า การบรรลุฉันทามติของทั้งสองประเทศในเวลานี้เป็นเรื่องปกติ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างในความสัมพันธ์ทวิภาคีทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน ขณะเดียวกันการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐและจีนที่แข็งแกร่งยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวทางในประวัติศาสตร์ ซึ่งตนมองว่า ทั้งสองประเทศควรที่จะรับมือกับความแตกต่างของแต่ละฝ่ายผ่านการเจรจาและปฎิบัติต่อกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ