สหรัฐยืนยันใช้แนวทางการทูตแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

ข่าวต่างประเทศ Monday August 14, 2017 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ และนายจิม แมททิส รมว.กลาโหมสหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐจะยังคงใช้แนวทางทางการทูตในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี

ทั้งนี้ นายทิลเลอร์สัน และนายแมททิสได้ระบุในบทความที่มีการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลฉบับวานนี้ว่า "สหรัฐไม่มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือ หรือเร่งกระบวนการรวมชาติเกาหลี"

ทางด้านพลโท เฮอร์เบิร์ต เรย์มอนด์ แมคมาสเตอร์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า "ผมคิดว่าเราไม่ได้ใกล้เข้าสู่ภาวะสงครามมากกว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เราเข้าใกล้มากกว่าเมื่อเทียบกับช่วง 1 ทศวรรษที่แล้ว"

ส่วนนายไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) กล่าวว่า นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ อาจทำการทดลองยิงขีปนาวุธครั้งใหม่ แต่การกล่าวถึงความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ อาจเป็นคำกล่าวที่เกินความจริง

"ผมยังไม่ได้รับข่าวกรองที่แสดงว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว" เขากล่าว

นอกจากนี้ นายมูน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กล่าวว่า "จะต้องไม่มีสงครามเกิดขึ้นอีกในคาบสมุทรเกาหลี โดยปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ และผมเชื่อว่าสหรัฐจะรับมือกับสถานการณ์ในขณะนี้ด้วยความสงบ และอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีจุดยืนเช่นเดียวกับเรา"

ขณะเดียวกัน นายไมฮา ริเบอร์นิค นักวิเคราะห์จากบริษัทเวอริสค์ เมเพิลครอฟท์ กล่าวว่า ถึงแม้เกาหลีเหนืออาจทำการยั่วยุจนเกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีในขณะนี้ แต่โอกาสที่จะเกิดสงครามยังคงอยู่ในระดับต่ำ

นายริเบอร์นิคกล่าวว่า ความเสี่ยงในการเกิดสงครามยังคงมีน้อย เนื่องจากสิ่งบ่งชี้ที่จะทำให้ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ที่เกิดความตึงเครียดครั้งล่าสุดในเดือนเม.ย.

นายริเบอร์นิคระบุว่า ถึงแม้ทั้งนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ต่างก็เป็นคนพูดจาโผงผาง ตรงไปตรงมา แต่เป็นที่เชื่อกันว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ต้องการทำในสิ่งที่ตนเองพูดไว้

ทั้งนี้ เกาหลีเหนือยังคงทำการทดลอง และผลิตขีปนาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นการรับประกันความอยู่รอดของระบอบการปกครองของตน แต่ก็รู้ดีว่า วันใดก็ตามหากมีการใช้ขีปนาวุธ และอาวุธนิวเคลียร์จริง ก็จะเป็นการบ่งชี้ถึงจุดจบการปกครองของตระกูลคิม

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ก็มีความกังวลลึกๆว่า หากสหรัฐทำการชิงโจมตีเกาหลีเหนือก่อน ก็จะทำให้เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ ไม่อาจรอดพ้นการโจมตีจากเกาหลีเหนือเช่นกัน

นายริเบอร์นิคระบุว่า ฝ่ายที่กดปุ่มยิงขีปนาวุธ หรือระเบิดนิวเคลียร์เป็นฝ่ายแรก จะต้องแบกรับความเสี่ยงมหาศาลที่จะตามมา

นายริเบอร์นิคกล่าวว่า ทางออกที่เป็นไปได้ในขณะนี้คือ สหรัฐยอมตกลงที่จะเจรจา โดยไม่มีการบังคับให้เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธ หรือทางฝ่ายเกาหลีเหนือยินยอมปลดอาวุธเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ