In Focusสหรัฐชงกฎหมายภาษีตอบโต้ หลัง EU สั่ง "แอปเปิล" จ่ายภาษีย้อนหลัง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 31, 2016 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทแอปเปิล อิงค์ เผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) มีคำสั่งให้แอปเปิลจ่ายเงิน 1.3 หมื่นล้านยูโร (1.45 หมื่นล้านดอลลาร์) เป็นค่าภาษีย้อนหลัง บวกดอกเบี้ย ให้แก่รัฐบาลไอร์แลนด์ หลังพบว่าทางบริษัทได้รับประโยชน์ด้านภาษีจากรัฐบาลไอร์แลนด์ที่ผิดกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU) เป็นเวลาถึง 11 ปี

สำหรับรัฐบาลสหรัฐแล้ว คำสั่งของคณะกรรมาธิการ EC ที่ให้บริษัทแอปเปิล อิงค์ จ่ายภาษีย้อนหลังให้กับไอร์แลนด์นั้น หมายถึงภาษีรายได้จำนวนมหาศาลที่กระทรวงการคลังสหรัฐอาจจะต้องสูญเสียไป เนื่องจากสหรัฐไม่สามารถตามทันความพยายามของทั่วโลกในการป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของภาคธุรกิจ และแอปเปิลอาจจะเป็นเพียงแค่กรณีแรกที่สหรัฐอาจจะต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก

นางมาร์เกรท เวสตาเกอร์ สมาชิก EC ฝ่ายป้องกันการผูกขาดตลาด มีคำสั่งในวันอังคารที่ผ่านมาให้แอปเปิลจ่ายเงินจำนวน 1.3 หมื่นล้านยูโร (1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นค่าภาษีย้อนหลัง บวกดอกเบี้ย ให้แก่รัฐบาลไอร์แลนด์ ตามข้อกล่าวหาที่ว่า แอปเปิลได้รับประโยชน์ด้านภาษีจากรัฐบาลไอร์แลนด์ ภายใต้โครงการความช่วยเหลือของรัฐที่ผิดกฎหมายเป็นเวลาถึง 11 ปี

นางเวสตาเกอร์ ระบุว่า การได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีของแอปเปิลเป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมต่อบริษัทอื่นๆ และหากในที่สุดแอปเปิลจะต้องจ่ายภาษีให้กับไอร์แลนด์เป็นจำนวนเงินหลายพันล้านดอลลาร์ดังกล่าว บริษัทอาจจะสามารถนำมาขอลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมายสหรัฐ ถึงแม้ว่าทั้งผู้บริหารของแอปเปิลและเจ้าหน้าที่ของไอร์แลนด์จะระบุว่า จะอุทธรณ์คำสั่งของ EC ต่อศาลของสหภาพยุโรป (EU)

ทั้งนี้ ทาง EC ยังได้ดำเนินการสอบสวนในลักษณะเดียวกันกับแอปเปิล กับอีกหลายบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐในตลอดทั้งยุโรป ซึ่งรวมถึงบริษัทแมคโดนัลด์ คอร์ป และ Amazon.com Inc. ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า หากศาลอุทธรณ์ยืนยันคำพากษาตามคำสั่งของ EC เจ้าหน้าที่ EC อาจจะใช้เอกสารที่ลักเซมเบิร์กได้ออกให้กับบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งของสหรัฐ ซึ่งรวมถึงบริษัทวอลท์ ดีสนีย์ โค และบริษัท ค็อค อินดัสตรีส์ อิงค์ มาใช้ประกอบการสอบสวน โดยข้อตกลงในเอกสารดังกล่าวเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆสามารถนำไปใช้ขอลดหย่อนภาษีได้ทั้งภายในและนอกประเทศ

แอปเปิลโต้ ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ

นายทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแอปเปิลระบุว่า ทางบริษัทไม่เคยขอสิทธิพิเศษด้านภาษีจากไอร์แลนด์ และบริษัทจะยื่นอุทธรณ์การตัดสินใจของ EC

นายคุกระบุว่า ทางบริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายนับตั้งแต่ที่เปิดโรงงานที่เมืองคอร์ค ประเทศไอร์แลนด์เกือบ 36 ปีก่อน พร้อมกับกล่าวหาว่า EU กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของไอร์แลนด์ด้วยสิ่งที่ EU คิดว่าควรจะเป็น

นอกจากนี้ นายคุกยังเตือนว่า คำสั่งดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในยุโรป

รายงานระบุว่า บริษัทเอกชนนอกภาคการเงินของสหรัฐได้เก็บเงินสดไว้ในต่างประเทศมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่แอปเปิลมีเงินสดทั้งหมด 2.32 แสนล้านดอลลาร์ ในจำนวนนั้นเป็นเงินฝากในต่างประเทศสูงถึง 2.14 แสนล้านดอลลาร์ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ EC จะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่เงินสดจำนวนดังกล่าวโดยตรง แต่ข้อกล่าวหาที่ว่า บริษัทเอกชนได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐมีรายได้ลดลงในการเรียกเก็บภาษีจากเงินจำนวนดังกล่าว โดยกฎหมายสหรัฐกำหนดให้นิติบุคคลต้องเสียภาษีในอัตรา 35% แต่ก็ได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถชะลอการจ่ายชำระภาษีจากรายได้ในต่างประเทศได้จนกว่าจะมีการโอนรายได้จำนวนดังกล่าวกลับมายังประเทศ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐและประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในแผนการลดอัตราภาษีที่จัดเก็บภาษีจากการส่งเงินกลับประเทศของบริษัทเอกชนสหรัฐ โดยโอบามาได้เสนอให้จัดภาษีที่อัตรา 14% ในขณะที่พรรครีพับลิกันเสนอให้จัดเก็บที่ 8.75%

การโอนรายได้

กฎหมายภาษีสหรัฐอนุญาตให้บริษัทเอกชนสามารถนำภาษีที่จ่ายในต่างประเทศมาลดหย่อนเงินค่าภาษีเงินได้ภายในประเทศได้แบบมีข้อจำกัด ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลังสหรัฐเกิดความวิตกว่า หากบริษัทของสหรัฐถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินค่าภาษีเป็นจำนวนมากให้กับรัฐบาลของประเทศยุโรป บริษัทต่างๆ ก็อาจจะนำเอาภาษีจำนวนดังกล่าวมาขอลดหย่อนภาษีในประเทศ ซึ่งจะเป็นการโอนเงินรายได้ภาษีจากสหรัฐไปยังสหภาพยุโรปโดยปริยาย

โอกาสที่เจ้าหน้าที่ของ EU จะบังคับให้บริษัทข้ามชาติของสหรัฐจ่ายภาษีให้กับประเทศต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทเหล่านั้นในการหลีกเลี่ยงภาษีในสหรัฐนั้น ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับฝ่ายบริหารของนายโอบามาและสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ

นายเควิน แบรดี ผู้แทนจากรัฐเท็กซัสของพรรครีพับลิกันและประธานการร่างกฎหมายภาษีกล่าวว่า "แทนที่จะปล่อยให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีจากบริษัทอเมริกันเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ รัฐบาลสหรัฐควรจะดำเนินการในทันทีเพื่อรับประกันว่า เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก" พร้อมกับระบุว่า การตัดสินใจของ EU เป็นการล่าเหยื่อและฉวยโอกาสจากช่องโหว่ทางภาษีของสหรัฐ

การตัดสินใจที่น่าเกลียด

นายแบรดีกล่าวว่า "นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวแทนจากพรรครีพับลิกันจึงเดินหน้าปฏิรูปแผนภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะดึงดูดให้บริษัทต่างๆกลับมาดำเนินงานในสหรัฐ จ้างแรงงานชาวสหรัฐ และช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว" พร้อมกับระบุว่า การกระทำของ EU เป็นเรื่องที่น่าเกลียดและควรจะกระตุ้นให้สหรัฐมีการดำเนินการ

ในขณะเดียวกัน นายจอช เอิร์นเนสต์ โฆษกทำเนียบขาวกล่าวว่า นายโอบามาจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 4 เดือนของเขาเดินหน้าผลักดันให้เรื่องนี้เข้าสู่การอภิปรายของรัฐสภา

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า คำสั่งของ EU เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่รอบคอบ รวมถึงเป็นการประเมินภาษีที่แอปเปิลต้องจ่ายให้กับไอร์ในจำนวนที่สูงเกินไป ตลอดจนยังไม่มีความแน่นอนว่าแอปเปิลจะต้องจ่ายภาษีจำนวนดังกล่าวหรือไม่ โดยทั้งแอปเปิลและไอร์แลนด์ได้เตรียมที่จะอุทธรณ์คำสั่งของ EC

EU ทำให้สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลง

หากการตัดสินใจของ EU กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐมีการดำเนินการ ก็อาจจะเกิดผลกระทบในทางตรงกันข้ามต่อความพยายามด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยแรงกดันจากการล็อบบี้ของภาคเอกชนสหรัฐส่งผลให้สหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวในบรรดาสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงซึ่งมีจุดประสงค์ในการขจัดกลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงภาษีในเชิงรุก

นายเอ็ดวาร์ด ไคลน์บาร์ด ศาสตราจารย์แห่งมาวิทยาลันเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนียและอดีตคณะกรรมการร่วมของระบบการจัดเก็บภาษีกล่าวว่า คำตัดสินของ EU ทำให้ทุกอย่างแย่ลง และจะทำให้การทำงานที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ของ OECD ต้องสะดุดลง

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำสั่งของ EU จะมีผลกระทบในระยะยาวอย่างไรต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากยังต้องได้รับการพิจารณาตัดสินของศาลอุทธรณ์ ในณะที่นักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุได้ว่าเรื่องนี้จะทำให้บริษัทข้ามชาติของสหรัฐปรับเปลี่ยนนโบายด้านภาษีหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อาจจะส่งผลให้บริษัทสหรัฐที่ดำเนินงานในต่างประเทศใช้วิธีควบรวมกิจการกับบริษัทท้องถิ่น

สิงคโปร์อาจได้รับอานิสงส์จากคำตัดสินของ EU

นายเรย์มอนด์ เวียเซค นักกฎหมายระหว่างประเทศของบริษัทโจนส์ เดย์ ในวอชิงตันกล่าวว่า การตัดสินใจของ EU อาจจะกระตุ้นให้บริษัทข้ามชาติต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีและบริษัทเภสัชภัณฑ์ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้ต้องมองหาสถานที่แห่งใหม่สำหรับการหลีกเลี่ยงภาษีในต่างประเทศ

นายเวียเซค กล่าวว่า บริษัทต่างๆกำลังหันไปเปิดสำนักงานในสิงคโปร์และการย้านฐานกำลังเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วขึ้น หากรัฐสภาสหรัฐไม่เร่งปรับลดภาษีนิติบุคคลลงจากระดับ 35% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราภาษีที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่สิงคโปร์มีอัตราภาษีต่ำเพียง 17% สำหรับเงินได้จากทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ

ส่วนในยุโรป กรณีของแอปเปิลมีแนวโน้มที่จะทำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติย้ายฐานการดำเนินงานไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ