In Focusเจาะลึกเบื้องหลัง"ทิม เคน" VS "ไมค์ เพนซ์" ก่อนขึ้นเวทีปะทะคารมวันนี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 5, 2016 07:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในเช้าวันนี้เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย จะมีการโต้วาทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ระหว่างทิม เคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และไมค์ เพนซ์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน

หลายคนไม่ได้ให้ความสนใจการดีเบตของคู่นี้มากนัก โดยมองว่าเป็นคู่พระรอง ต่างจากการดีเบตเมื่อเช้าวันที่ 27 ก.ย.ตามเวลาไทย ระหว่างฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งสามารถกระชากเรทติ้งคนดูสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 84 ล้านราย

อย่างไรก็ดี การโต้วาทีของผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐในวันนี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เนื่องจากเขาจะเป็นผู้ที่ขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำของประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกทันที หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

นอกจากนี้ ไมค์ เพนซ์ ยังแบกรับเดิมพัน และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ในการกู้หน้า เรียกศักดิ์ศรีและเรทติ้งให้กับทรัมป์ หลังจากที่ผลสำรวจระบุว่าทรัมป์พ่ายแพ้ยับเยินในการดีเบตยกแรกเมื่อวันอังคารที่แล้วต่อฮิลลารี โดย CNN เปิดเผยว่า ผู้ถูกสำรวจ 62% มองว่าฮิลลารีเป็นฝ่ายชนะดีเบต เทียบกับ 27% เท่านั้นที่มองว่าทรัมป์ชนะ

ส่วนทางทิม เคนก็เผชิญกับสิ่งท้าทายเช่นกัน เมื่อผลสำรวจบ่งชี้ว่าไมค์ เพนซ์ ได้รับความนิยมมากกว่าเขา และเพนซ์ก็เป็นที่รู้จักของชาวอเมริกันมากกว่าเคน

คอลัมน์ In Focus ของ InfoQuest จึงขอแนะนำประวัติ และความเป็นมาของทิม เคน และไมค์ เพนซ์ ก่อนที่ทั้งสองจะขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ในวันนี้

*"ทิม เคน" ขุนศึกคู่ใจ "ฮิลลารี คลินตัน"—โปรไฟล์ดี ภาษาเยี่ยม พื้นเพเลิศ

ทิม เคน วัย 58 ปี เป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย และอดีตผู้ว่าการรัฐเดียวกัน โดยเขาเกิดในปี 1958 ที่เมืองเซนต์ปอล รัฐมินเนโซตา และได้เติบโตขึ้นในเมืองแคนซัส ซิตี้ ซึ่งในช่วงแรกเขาได้ทำงานช่วยพ่อของเขาในโรงเชื่อมโลหะ

เคนสมรสแล้วกับแอน โฮลตัน ซึ่งทั้งสองได้พบรักกันระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และมีบุตรด้วยกัน 3 คน

แอนเป็นบุตรสาวของเอ. ลินวูด โฮลตัน จูเนียร์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ขณะที่แอนเองก็เป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการของรัฐดังกล่าว ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานให้เขาไต่เต้าเข้าสู่แวดวงการเมืองในเวอร์จิเนีย

ในยามว่าง เคนนิยมอ่านหนังสือปรัชญา และชอบการเป่าหีบเพลงฮาโมนิกาเป็นชีวิตจิตใจ

ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งของเคนกล่าวว่า ฮีโร่ส่วนตัวของเขาคือ ดีทริช บอนฮอฟเฟอร์ ซึ่งเป็นนักศาสนศาสตร์ชาวเยอรมันที่อยู่ในขบวนการต่อต้านนาซี

เคนเป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียในปี 2006-2010 และเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐดังกล่าวตั้งแต่ปี 2012 โดยเวอร์จิเนียถือเป็นรัฐ swing-state ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงประจำของทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน การได้เคนมาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีจะทำให้ฮิลลารีมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากขึ้นในรัฐนี้

ในปี 2007 ซึ่งเกิดเหตุการณ์กราดยิงในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และถือเป็นโศกนาฏกรรมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสหรัฐ คำกล่าวไว้อาลัยของเคนต่อเหยื่อผู้เสียชีวิตได้สร้างความประทับใจต่อชาวอเมริกันทั่วประเทศ เนื่องจากเขาพูดออกมาจากใจ และพูดในนามของชาวเวอร์จิเนีย

ในการรณรงค์หาเสียงนั้น เคนมักนิยมขึ้นกล่าวบนเวทีแบบด้นสด โดยไม่ต้องดูบทที่เตรียมมา นอกจากนี้ เขายังมีความคล่องแคล่วในภาษาสเปน ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากการที่เขาเป็นมิชชั่นนารีนิกายโรมันคาทอลิกที่ถูกส่งตัวไปยังฮอนดูรัสก่อนจะไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

เคนและภรรยาของเขา แอน โฮลตัน ต่างก็เป็นสมาชิกเก่าแก่ของโบสถ์คาทอลิกเซนต์ เอลิซาเบ็ทในเมืองริชมอนด์ ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวผิวสี

เคนเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขาต่อต้านการทำแท้ง แต่ก็ได้กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรแทรกแซงสิทธิของผู้หญิงในการทำการตัดสินใจ

เคนเป็นนักการเมืองที่มีเสน่ห์ และเข้าสู่แวดวงการเมืองแบบโชคช่วยเล็กๆ โดยหลังจากที่เขาเป็นสมาชิกสภาเมืองริชมอนด์ และนายกเทศมนตรีชั่วคราวแล้ว เขาก็ได้กลายเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตสำหรับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย เนื่องจากคู่แข่งได้ถอนตัวกระทันหัน หลังจากตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และการที่เขาได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐเวอร์จิเนีย ก็เป็นเพราะจิม เว็บบ์ ซึ่งเป็นวุฒิสมาชิกของรัฐในขณะนั้น ตัดสินใจไม่ลงสมัครเป็นสมัยที่ 2

*เบื้องหลัง"เคน"ชนะใจ"ฮิลลารี" คว้าตำแหน่งคู่ชิงรองประธานาธิบดี

เคนถือเป็นตัวเก็งที่จะคว้าตั๋วคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐของฮิลลารีตั้งแต่ช่วงต้นแล้ว โดยเคนเป็นแคนดิเดทที่มีโปรไฟล์ดีเลิศ โดยมีดีกรีเป็นทั้งวุฒิสมาชิก, อดีตผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย และอดีตนายกเทศมนตรีเมืองริชมอนด์ ซึ่งตลอดช่วงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เคนไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียว รวมทั้งการที่เขาสามารถพูดภาษาสเปนได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้เขาจะช่วยกวาดคะแนนเสียงจากชาวฮิสแปนิกในสหรัฐ ซึ่งหากเดโมแครตมีชัยชนะใน swing-state เช่น เวอร์จิเนีย และฟลอริดา ก็จะช่วยทำคะแนนทิ้งห่างโดนัลด์ ทรัมป์ และไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา คู่แข่งจากพรรครีพับลิกันได้

ภายใต้มาดของนักการเมืองที่เป็นสุภาพบุรุษ คนใกล้ชิดของเคนกล่าวว่า ในยามที่ขึ้นกล่าวรณรงค์หาเสียงนั้น เขาก็สามารถพูดจาได้ดุดันราวกับเป็นคนละคน และเคนก็แสดงให้เห็นว่า เขาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในรัฐ swing-state ที่มีการแข่งขันสูง และต้องใช้เงินจำนวนมากได้

เคนยังเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเคยพิจารณาให้เคนอยู่ในรายชื่อคู่ชิงรองประธานาธิบดีสหรัฐของเขาในปี 2008

เคนสามารถร่วมงานกับฮิลลารีเป็นอย่างดีขณะที่ทั้งสองทำการรณรงค์หาเสียง ก่อนที่ฮิลลารีจะทาบทามเคนให้เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีกับเธอ

ฮิลลารีเองเคยเป็นแมวมองหาคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐให้แก่บิล คลินตัน สามีของเธอในปี 1992 ซึ่งก็ได้ตัวอัล กอร์มาในที่สุด และจากการที่ฮิลลารีมีประสบการณ์อยู่ในทำนียบขาวมา 8 ปี และอีก 4 ปีในการเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของประธานาธิบดีบารัค โอบามา การที่ตัวเธอมีความเชื่อมั่นในเคนจึงถือว่าไม่ธรรมดา

ที่จริงแล้ว การตัดสินใจเลือกเคนเป็นคู่ชิงในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจไม่น้อยต่อฮิลลารี เนื่องจากเธอมีความสนิทสนมกับทอม วิลแซค ซึ่งเป็นตัวเก็งอีกคนหนึ่ง โดยวิลแซคเป็นรัฐมนตรีเกษตรสหรัฐ และเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวา ซึ่งเขาถือเป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวเธอ และเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นทางการเมือง

จอห์น โปเดสตา ประธานฝ่ายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตได้เริ่มกระบวนการสรรหาคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในเดือนเม.ย. นับตั้งแต่ที่ฮิลลารีมีชัยชนะเหนือเบอร์นี แซนเดอร์ส คว้าตั๋วตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยโปเดสตาและคณะของเขาได้สอบถามข้อมูลจากประชาชนทั่วไปเพื่อวัดคะแนนนิยมของผู้ที่มีแนวโน้มจะขึ้นมาเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของฮิลลารี รวมทั้งเจาะลึกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว และสถานะทางการเงิน

โปเดสตาและคณะต่างเก็บข้อมูลต่างๆไว้เป็นความลับ และเมื่อถึงเดือนก.ค. ฮิลลารีก็มีกำหนดออกทำการรณรงค์หาเสียงร่วมกันกับเคนที่เมืองแอนนานเดล รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเขาได้แสดงความสามารถทางด้านภาษาที่เข้าตาฮิลลารี โดยประกาศบนเวทีเป็นภาษาสเปนว่า "Estamos listos para Hillary!" ซึ่งแปลว่า "พวกเราพร้อมแล้ว สำหรับฮิลลารี"

ฮิลลารีได้เชิญเคนมาที่บ้านของเธอที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในเย็นวันนั้น โดยทั้งสองได้พูดคุยกันเป็นเวลา 90 นาที และอีก 2 วันต่อมา เธอก็ได้เชิญแอน โฮลตัน ภรรยาของเคน มาสนทนาที่บ้านเช่นกัน ซึ่งในครั้งนี้ บิล คลินตัน สามีของฮิลลารี, เชลซี บุตรสาว และ มาร์ค เมซวินสกี บุตรเขย ก็ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับเคน และ แอนด้วย

นับตั้งแต่นั้นมา ชื่อของเคนก็ติดอันดับ 1 ของตัวเก็งผู้ที่จะมาเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของฮิลลารี แต่เคนก็ยังถ่อมตัว และไม่แสดงออกอะไร โดยบอกกับผู้สื่อข่าวว่าเขามีความสุขดีกับการเป็นวุฒิสมาชิก และเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะมีการประกาศชื่อเขาออกมา เคนก็ยังบอกว่า เขาไม่รู้ว่าผลการเลือกสรรของคณะกรรมการจะออกมาเป็นเช่นใด

สำหรับรายชื่อผู้ที่มีโอกาสเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของฮิลลารี นอกเหนือจากเคนแล้ว ยังได้แก่ ทอม เปเรซ รัฐมนตรีแรงงานสหรัฐ, คอรี บูเคอร์ วุฒิสมาชิกรัฐนิว เจอร์ซีย์, เอลิซาเบท วอร์เรน วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ และทอม วิลแซค รัฐมนตรีเกษตรสหรัฐ และอดีตผู้ว่าการรัฐไอโอวา

ในอดีต ฮิลลารีเคยหาเสียงให้กับวิลแซคจนเขาประสบความสำเร็จเป็นผู้ว่าการรัฐไอโอวาในปี 1998 และในทางกลับกัน วิลแซคก็ได้ยืนหยัดอยู่เคียงข้างฮิลลารีในช่วงที่ต้องหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2008 โดยเธอต้องฟาดฟันกับบารัค โอบามาในขณะนั้น ในขณะที่เคนกลับช่วยรณรงค์หาเสียงให้กับโอบามา

วิลแซคถือว่ามีความสนิทสนมกับครอบครัวของฮิลลารีอย่างมาก แต่การที่เคนมีประสบการณ์คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งในรัฐที่เป็น swing-state และการที่เขาเป็นวุฒิสมาชิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ รวมทั้งการที่เขาพูดภาษาสเปนได้ดี ซึ่งจะเป็นการได้ใจฐานเสียงของผู้ที่เป็นชาวฮิสแปนิกทั่วสหรัฐนั้น ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ทำให้เคนเหนือกว่าวิลแซคจนสามารถเบียดเข้ามาเป็นผู้ชนะในการเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของฮิลลารีได้ในที่สุด

วินาทีที่ฮิลลารีโทรศัพท์แจ้งข่าวดีกับเคนว่า เขาได้รับเลือกเป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีนั้น เคนกำลังอยู่ในงานระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคเดโมแครตที่เมืองนิวพอร์ท โรดไอส์แลนด์ ซึ่งเขาก็ได้ตอบรับคำเชิญของฮิลลารีทันทีโดยไม่ลังเล

และอีก 20 นาทีต่อมา ฮิลลารีก็ได้โทรศัพท์เพื่อแจ้งการตัดสินใจดังกล่าวแก่ปธน.โอบามาที่ทำเนียบขาว ก่อนที่เธอจะทวิตข้อความแถลงต่อสื่อมวลชน

อย่างไรก็ดี ชีวิตการเมืองของเคนก็ไม่ใช่ว่าจะไร้จุดด่างพร้อยเสียทีเดียว โดยครั้งหนึ่ง เคนเคยทำหนังสือแจ้งให้กระทรวงยุติธรรมส่งตัวเยนส์ ซอริง บุตรชายของนักการทูตเยอรมันคนหนึ่งจากเรือนจำในเวอร์จิเนียเพื่อไปรับโทษในเรือนจำเยอรมัน เพียงไม่กี่วันก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ

ในขณะนั้น ซอริงต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในปี 1985 ในความผิดข้อหาฆาตกรรมบิดามารดาของอดีตแฟนสาวของเขาที่เบดฟอร์ด เคาน์ตี ซึ่งหากซอริงสามารถโอนย้ายตัวไปรับโทษในเยอรมนี เขาจะถูกจำคุกอีกเพียง 2 ปีก็จะพ้นโทษ

แต่การส่งตัวซอริงไปเยอรมนีก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากบ็อบ แมคดอนเนล ซึ่งเป็นผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนียต่อจากเคน ได้ประกาศยกเลิกคำขอดังกล่าว หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง

ขณะเดียวกัน ในสมัยที่เคนเป็นนายกเทศมนตรีเมืองริชมอนด์ เขาได้ถูกกลุ่มสนับสนุนการครอบครองอาวุธปืนประท้วง เนื่องจากมีการพบว่าเคนใช้งบประมาณของเมืองในการนำผู้ที่เห็นด้วยกับการควบคุมอาวุธปืนไปร่วมการเดินขบวนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งต่อมาเคนก็ได้ทำการระดมทุนส่วนตัวเพื่อนำเงินไปใช้คืนเมืองริชมอนด์

นอกจากนี้ เคนยังถูกครหาในเรื่องที่เขารับของขวัญ และรับการสนับสนุนค่าเดินทางจากบุคคลอื่น ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ถึงแม้ว่าการรับของขวัญถือเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายในเวอร์จิเนียก็ตาม

*"ไมค์ เพนซ์" คู่หูสู้ศึกเลือกตั้งของ "โดนัลด์ ทรัมป์"--ความแตกต่างที่ลงตัว

ไมค์ เพนซ์ วัย 57 ปี เป็นผู้ว่าการรัฐอินเดียนาตั้งแต่ปี 2013 และเขาเคยเป็นสมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันเป็นเวลา 12 ปี และถือเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกันที่มีตำแหน่งสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เนื่องจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคลงมติเอกฉันท์แต่งตั้งเขาเป็นประธานการประชุมพรรครีพับลิกัน

เพนซ์สมรสแล้วกับแคเรีย เพนซ์ และมีบุตรด้วยกัน 3 คน

เพนซ์เกิดในปี 1959 ที่เมืองโคลัมบัส รัฐอินเดียนา โดยเขาเป็นบุตรชายของเอ็ดเวิร์ด เจ.เพนซ์ จูเนียร์ เจ้าของธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน และแนนซี คอว์ลีย์ บุตรสาวของริชาร์ด ไมเคิล คอว์ลีย์ ซึ่งเป็นผู้อพยพชาวไอริช

ในวัยเด็ก เพนซ์กลับนิยมพรรคเดโมแครต เนื่องจากศรัทธาในตัวอดีตประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี แต่ต่อมาเขาได้สมัครเป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน จากความประทับใจในตัวโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ

เมื่อปี 1986 เพนซ์เริ่มทำงานเป็นทนายความให้กับสำนักงานทนายความแห่งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจผันตัวมาเล่นการเมืองด้วยการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาสอบตกถึง 2 ครั้งในปี 1988 และ 1990 แต่ในที่สุด เขาก็ประสบความสำเร็จ เมื่อได้รับเลือกเป็นส.ส.สมัยแรกในปี 2000 และต่อมาได้รับเลือกติดต่อกันอีก 4 สมัย ขณะที่นิตยสารเอสไคว์ได้ยกย่องเพนซ์เมื่อปี 2008 ว่าเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่ดีที่สุด

เพนซ์เป็นสมาชิกกลุ่มทีปาร์ตี้ ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมในพรรครีพับลิกัน เขาคัดค้านการให้งบประมาณแก่องค์กรที่สนับสนุนการทำแท้ง และไม่เห็นด้วยในการให้สิทธิความเป็นพลเรือนอเมริกันแก่ทารกแรกเกิดทุกคนที่เกิดในสหรัฐ ขณะที่สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งสหรัฐ

ในส่วนของนโยบายต่างประเทศนั้น เพนซ์ให้การสนับสนุนอิสราเอล โดยยกย่องว่าเป็นพันธมิตรที่ดีที่สุดของสหรัฐ และเมื่อเพนซ์ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐอินเดียนา เขาได้ออกกฎหมายสั่งห้ามทำธุรกิจกับบริษัทใดๆ ในรัฐอินเดียนาที่ต่อต้านอิสราเอล นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนร่างกฎหมายที่อนุญาตให้สหรัฐโจมตีโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่าน ขณะที่เขาคัดค้านการปิดเรือนจำกวนตานาโม

ในด้านการค้าต่างประเทศ เพนซ์ให้การเห็นชอบต่อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) รวมทั้งข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และเห็นด้วยต่อการที่สหรัฐเข้าเป็นภาคีองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งนโยบายนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับทรัมป์ที่คัดค้านกระแสโลกาภิวัตน์และการทำข้อตกลงการค้าเสรีของสหรัฐซึ่งเขามองว่าทำให้อเมริกาเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

ในช่วงที่เพนซ์อยู่ในสภาคองเกรส เขาได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยเสริมเข้ากับการขาดประสบการณ์ด้านการต่างประเทศของทรัมป์ และจะช่วยทรัมป์ในการแสวงหาความร่วมมือกับสภาคองเกรส เนื่องจากทรัมป์มาจากพื้นเพของการเป็นนักธุรกิจ และถือเป็นหน้าใหม่ในแวดวงการเมืองสหรัฐ

ขณะเดียวกัน การที่เพนซ์เป็นสมาชิกกลุ่มทีปาร์ตี้ ก็จะช่วยลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์ว่าเป็นผู้มีแนวคิดเสรีนิยมเกินไป

ทางด้านกลุ่ม Club for Growth ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีแนวคิดสายอนุรักษ์นิยม และได้เคยโจมตีนโยบายปกป้องทางการค้าของทรัมป์ก่อนหน้านี้ ก็ได้ออกมายกย่องการเลือกเพนซ์เป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี โดยระบุว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพนซ์ได้แสดงความมุ่งมั่นในการรักษาระบบตลาดเสรี และเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ผู้นำของพรรครีพับลิกันมีจุดอ่อนทางด้านนี้

มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา กล่าวว่า "การเลือกเพนซ์ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีจะช่วยสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ลงคะแนนเสียงที่มีความต้องการนำพาพรรครีพับลิกันกลับเข้าสู่ทำเนียบขาว และสกัดการดำเนินนโยบายของพรรคเดโมแครต"

อย่างไรก็ดี ในช่วงหาเสียงรอบไพรมารีนั้น เพนซ์กลับให้การสนับสนุนวุฒิสมาชิกเทด ครูซ เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ และเพนซ์ยังเคยแสดงความเห็นคัดค้านแนวคิดของทรัมป์ในการสั่งห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้ามาในสหรัฐ

ทรัมป์ไม่ได้ใส่ใจต่อจุดยืนที่แตกต่างของเพนซ์มากนัก โดยกล่าวว่า ในบรรดาคนที่เขาสัมภาษณ์เพื่อให้มารับตำแหน่งว่าที่รองประธานาธิบดี ก็ไม่มีสักคนเดียวที่เห็นพ้องกับเขาทุกเรื่อง ขณะที่ทรัมป์ยอมรับว่าเขารู้สึกประทับใจเพนซ์มากเมื่อทั้งคู่ได้พบปะกัน และทรัมป์ก็ตัดสินใจเลือกเพนซ์เป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีของเขา แทนที่จะเลือกเพื่อนสนิท และที่ปรึกษาใกล้ชิดอย่าง นิวท์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร วัย 73 ปี และ คริส คริสตี้ ผู้ว่าการรัฐนิว เจอร์ซีย์ วัย 53 ปี

เพนซ์ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับทรัมป์ เนื่องจากเขามีบุคลิกที่อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งแตกต่างจากทรัมป์ที่เป็นคนก้าวร้าว และชอบพูดจาโอ้อวด โดยเพนซ์สามารถทำงานเข้าขากับทรัมป์ได้ โดยไม่แสดงตัวโดดเด่นกว่าเขา

*มหาเศรษฐี"ทรัมป์" ร่วมงาน ยาจก"เพนซ์"

ในขณะที่ทรัมป์มักโอ้อวดว่าเขาเป็นคนมีฐานะร่ำรวย โดยมีทรัพย์สินถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เพนซ์กลับเป็นนักการเมืองที่มีฐานะการเงินที่ตึงตัวอย่างมาก โดยเขาต้องจำนองบ้านถึง 4 หลังในรัฐอินเดียนา และเวอร์จิเนียในช่วงที่เขาเป็นสมาชิกสภาคองเกรส

และเมื่อเขาออกจากสภาคองเกรสในปี 2013 ทรัพย์สินของเขาและภรรยา ยกเว้นราคาบ้านที่อินเดียนานั้น มีมูลค่าไม่ถึง 300,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยของสมาชิกสภาคองเกรสคนอื่นๆในขณะนั้นที่มีมากกว่า 5 ล้านดอลลาร์

มาร์ค ลอตเตอร์ โฆษกประจำตัวเพนซ์ กล่าวว่า เพนซ์และภรรยาได้เผยแพร่เอกสารการจ่ายภาษีย้อนหลัง 10 ปี โดยเงินรายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขามาจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐอินเดียนาและเงินบำนาญ ขณะที่ในปีที่แล้ว เพนซ์และภรรยามีเงินได้รวม 113,026 ดอลลาร์ และจ่ายภาษีเงินได้ 8,956 ดอลลาร์

ในช่วงเวลานับตั้งแต่เป็นผู้ว่าการรัฐอินเดียนา เพนซ์ได้รับเงินเดือนของรัฐไม่ถึง 112,000 ดอลลาร์/ปี แต่หากเขาประสบชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ เขาจะมีรายได้มากกว่า 230,000 ดอลลาร์/ปี

การที่เพนซ์ตัดสินใจรับข้อเสนอเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีให้กับทรัมป์ ทำให้เขาเลิกล้มความตั้งใจในการลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐอินเดียนาเป็นสมัยที่ 2 เนื่องจากกฎหมายของรัฐห้ามการสมัครตำแหน่งทางการเมืองที่ซ้ำซ้อนกัน

*"เพนซ์"เกือบพบจุดจบทางการเมือง เหตุล้วงเงินบริจาค

ในปี 1990 ในช่วงที่สอบตกในการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาคองเกรส เพนซ์ได้นำเงินที่ประชาชนบริจาคให้พรรคเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งไปใช้สำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเขา ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินค่าจำนองบ้าน, ค่าผ่อนรถให้ภรรยา, ค่าใช้จ่ายจากบัตรเครดิต, ค่าจอดรถ, ค่าออกรอบในสนามกอล์ฟ และค่าซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

เอกสารในคณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการหาเสียงสภาคองเกรสของพรรคเดโมแครตได้ยื่นฟ้องเพนซ์และผู้สมัครรับเลือกตั้งอีก 3 ราย หลังจากสื่อได้ลงข่าวการใช้จ่ายเงินที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ฝ่ายหาเสียงเลือกตั้งของเพนซ์ไม่ได้ติดใจการที่เพนซ์ล้วงเงินในกองทุนบริจาคไปใช้ส่วนตัว โดยแก้ต่างว่าสามารถทำได้ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลกลาง

นอกจากนี้ คณะกรรมการสภาคองเกรสของพรรครีพับลิกันยังออกมาปกป้องเพนซ์ในเรื่องนี้ โดยระบุว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้สมัครหาเสียงในการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปในช่วงที่ทำการหาเสียงเต็มเวลา

ขณะเดียวกัน เจสัน มิลเลอร์ โฆษกฝ่ายหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์ ก็ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลกลางสหรัฐยืนยันว่า เพนซ์ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย 100%

*จับตาผลดีเบตวันนี้ "ทรัมป์"เหนื่อยแน่ หาก"เพนซ์"พ่าย"เคน"

หลังจากที่ทราบประวัติ ความเป็นมาของผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากทั้งพรรคเดโมแครต และรีพับลิกันแล้ว หวังว่าผู้อ่านจะรับชมการถ่ายทอดสดการโต้วาทีของทั้งสองด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลแพ้-ชนะจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทุกคน

การดีเบตจะมีขึ้นในเช้าวันนี้เวลา 08.00 น.ตามเวลาไทย และจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยลองวูด เมืองฟาร์มวิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งถือเป็นถิ่นของทิม เคน โดยมีเอเลน ควิจาโน ผู้ประกาศข่าวของ CBSN และผู้สื่อข่าวจาก CBS News ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 90 นาที โดยแบ่งออกเป็น 9 ช่วง ช่วงละประมาณ 10 นาที โดยหลังจากที่ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถาม เคนและเพนซ์ก็จะมีเวลาในการตอบคำถามคนละ 2 นาที

สำหรับศึกดีเบตแคนดิเดทรองประธานาธิบดีสหรัฐที่มียอดผู้ชมสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา คือศึกดีเบตในปี 2008 ระหว่างโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และซาราห์ เพ-ลิน จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งมียอดผู้ชมถึง 69.9 ล้านราย

ถ้าผลการสำรวจในวันนี้พบว่า เคนชนะการดีเบต ก็เท่ากับว่าพรรคเดโมแครตมีชัยชนะเหนือพรรครีพับลิกันถึง 2 ยกติดต่อกัน และจะทำให้ทรัมป์เผชิญแรงกดดันมากยิ่งขึ้นในการดีเบตในอีก 2 ยกที่เหลือในเช้าวันที่ 10 ต.ค. และ 20 ต.ค.ตามเวลาไทยเพื่อเรียกเรทติ้งกลับคืนมา มิฉะนั้นโอกาสที่เขาจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งในเวลาอีกเพียง 1 เดือนในวันที่ 8 พ.ย.ก็จะมีความเป็นไปได้มาก ขณะที่คะแนนนิยมของเขายังคงตามหลังฮิลลารีในขณะนี้

ทั้งนี้ ผลการสำรวจทั่วประเทศสหรัฐครั้งล่าสุดของ NBC News/SurveyMonkey Weekly Election Online Tracking Poll ที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ ระบุว่า ฮิลลารียังคงมีคะแนนนำทรัมป์ถึง 6 จุด

ผลสำรวจระบุว่า ฮิลลารีได้รับคะแนนนิยมจากผู้ถูกสำรวจถึง 50% สูงกว่าทรัมป์ซึ่งได้เพียง 44%

ฮิลลารียังได้รับคะแนนนิยมสูงกว่าทรัมป์ในกลุ่มสตรี ในสัดส่วน 52% ต่อ 34%

การสำรวจดังกล่าวได้จัดทำขึ้นในวันที่ 26 ก.ย.-2 ต.ค. โดยมีผู้ถูกสำรวจเป็นผู้ใหญ่จำนวน 26,925 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ