In FocusAT&T กับความท้าทายรอบด้านหลังบรรลุข้อตกลงซื้อ Time Warner จะพุ่ง? จะถึงทางตัน? หรือแค่รอด?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday October 26, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากถามว่า บริษัทประเภทใดในสหรัฐกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น หลายคนคงพูดถึง กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก อเมซอน และเน็ตฟลิกซ์ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งสิ้น โลกออนไลน์นี้เองที่เป็นตัวลบพรมแดนระหว่างสื่อและระบบโทรคมนาคม และยังลบล้างข้อจำกัดมากมายที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งจากเดิมอาจจะต้องออกไปเดินหาซื้อสินค้าต้ามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ วันนี้ทุกคนสามารถหาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว การชมภาพยนตร์ก็เช่นกัน ขณะนี้การรับชมคลิปวิดีโอ การชมรายการย้อนหลัง หรือการแชร์คลิปวิดีโอผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กก็กำลังเป็นที่นิยม การติดต่อสื่อสารหากันยิ่งเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นอย่างชัดเจน ทุกคนสามารถส่งข้อความถึงกันได้ตลอดเวลาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก สามารถลงรูปภาพ พูดถึงสิ่งที่ตนพบเห็นได้ในแบบเรียลไทม์ สามารถโทรศัพท์หากันผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้ สามารถวิดีโอคอลหากันก็ย่อมได้ หรือแม้กระทั่งล่าสุด สามารถถ่ายทอดสดตนเองลงบนเฟซบุ๊กได้แล้วเช่นกัน แน่นอนว่าสื่อรูปแบบใหม่เหล่านี้กำลังเข้ามาแทนสื่อในรูปแบบเก่า ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร และที่สำคัญก็คือ การใช้งานช่องทางออนไลน์เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำและช่วยประหยัดเวลาได้อย่างดีเยี่ยม

ด้วยกระแสการเติบโตของโลกอินเทอร์เน็ตนี้เองที่ทำให้บรรดาโซเชียลเน็ตเวิร์ก และเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ต่างเฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัด ในขณะเดียวกันก็ส่งผลให้บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทผู้ผลิตสื่อรูปแบบเก่าต่างตกอยู่ในภาวะสั่นคลอน จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจนักที่บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมอย่างเอทีแอนด์ที (AT&T) คงหยุดนิ่งไม่ได้ ล่าสุด AT&T จึงได้มาพร้อมกับข้อตกลงไม้เด็ดด้วยการประกาศบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการของ Time Warner เพื่อฟันฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากที่บริษัทโทรคมนาคมต่างกำลังเผชิญและมีแนวโน้มว่า จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหากยังคงอยู่นิ่งกับที่

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจโทรคมนาคมอย่าง AT&T ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้ประกาศซื้อกิจการ Time Warner อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา รวมมูลค่าคิดเป็น เป็น 8.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทจากบริษัทสื่อสารให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ด้านสื่อ ซึ่งนับเป็นการควบรวมกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดครั้งหนึ่งในปี 2559 นายแรนดอลล์ สตีเฟนสัน ประธานกรรมการและซีอีโอของ AT&T ได้ออกมากล่าวว่า"นี่ถือเป็นการจับคู่ที่ลงตัวที่สุดของสองบริษัทที่มีจุดแข็งเสริมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดแนวทางใหม่ที่อุตสาหกรรมสื่อและการสื่อสารจะดำเนินงานเพื่อลูกค้า ผู้ผลิตคอนเทนต์ ผู้จัดจำหน่ายและผู้โฆษณา"

การควบรวมกิจการกับ Time Warner ครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างไร?

Time Warner เป็นบริษัทผู้เป็นเจ้าของสื่อหลากหลายรูปแบบ อาทิ สถานนีเคเบิลทีวีช่อง HBO ช่อง TBS ช่อง TNT สำนักข่าว CNN สตูดิโอ Warner Brothers อีกทั้งยังเป็นเจ้าของ Cartoon Network และบริษัท DC Comics รวมไปถึงการถ่ายทอดสดกีฬาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งการควบรวมกิจการของ AT&T ครั้งนี้จะส่งผลให้ AT&T สามารถเข้าควบคุมเครือข่ายข่าวสารและบันเทิงขนาดใหญ่ที่มีทั้งสถานีเคเบิลทีวี และสตูดิโอผลิตภาพยนตร์ ไปจนกระทั่งนิตยสารและหนังสือการ์ตูน จึงถือได้ว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้ของ AT&T ย่อมไม่ธรรมดา

การประกาศควบรวมกิจการดังกล่าว หลายคนมองว่า อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เนื่องจากจะเป็นการเบิกทางสู่การพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่ที่มีการผสานวงการโทรคมนาคมและวงการอุตสาหกรรมบันเทิงเข้าด้วยกัน อันจะนำไปสู่การผลิตสื่อรูปแบบใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายยิ่งขึ้นให้แก่ผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริโภคอาจสามารถรับชมข้อมูล หรือรับชมสื่อต่าง ๆ ข้ามอุปกรณ์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือ โทรทัศน์ ซึ่งทาง AT&T ก็มีความคิดเห็นไปในทางเช่นนั้นว่า AT&T จะสามารถนำมาซึ่งสุดยอดประสบการณ์ในการรับชมสื่อรูปแบบใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ โดยอาจสามารถคัดเลือกข้อมูลหรือสื่อตามสถานที่ เครื่องมือ และพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละบุคคลได้อย่างเฉพาะเจาะจง ทำให้การรับสื่อของผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดเวลา อีกทั้งยังสามารถส่งโฆษณาให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ซึ่งด้วยประการนี้เอง นักวิเคราะห์ ผู้บริโภคจำนวนหนึ่ง รวมถึงบริษัท AT&T เองจึงมองว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้จะนำไปสู่นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี เมื่อการควบรวมกิจการครั้งนี้ได้กลายเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ก็ย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ AT&T ออกมาประกาศซื้อกิจการของ Time Warner ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐเตรียมพิจารณาข้อตกลงระหว่าง AT&T และ Time Warner ทันที เนื่องจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นการผูกขาดการค้า ผู้ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวของ AT&T จำนวนหนึ่งประกอบด้วย นายเบอร์นี แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกสหรัฐ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน โดยนาย แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกสหรัฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐควรยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว เนื่องจากอาจทำให้ชาวอเมริกันต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นแต่มีตัวเลือกน้อยลง

ในขณะที่ทรัมป์เคยออกปากที่จะยับยั้งการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่จะทำให้อุตสาหกรรมสื่อและการสื่อสารตกอยู่ในมือของบริษัทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีนักวิเคราะห์อีกหลายรายต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การควบรวมกิจการของ AT&T เป็นการเพิ่มอำนาจการผูกขาดราคาให้แก่บริษัท สิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าใช้จ่ายในการรับชมสื่อต่าง ๆ อาจสูงขึ้น ในขณะที่ความหลากหลายของสื่อ และตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคกลับลดลง ซึ่งทั้งหมดล้วนไม่ใช่ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคตามที่ AT&T ได้กล่าวอ้างไว้ แต่กลับเป็นผลประโยชน์ต่อ AT&T เองล้วนๆ อันได้มาจากการเพิ่มความหลากหลายด้านธุรกิจของ AT&T เพื่อให้บริษัทได้อยู่รอดในกระแสโลกที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนเพียงเท่านั้น ด้วยประการเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการว่าด้วยการต่อต้านการผูกขาดประจำวุฒิสภาสหรัฐ เตรียมพิจารณาข้อตกลงการซื้อ Time Warner ของ AT&T อย่างระมัดระวัง

แล้วรัฐบาลสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องได้อย่างไร?

หากจะกล่าวว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ธุระกงการอะไรของรัฐบาลสหรัฐที่จะเข้าแทรกแซงตลาดในดินแดนเสรีแห่งนี้ ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะถึงแม้ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐจะเป็นระบบทุนนิยม แต่รัฐบาลสหรัฐก็มีอำนาจในการเข้าควบคุมตลาด ซึ่งหนึ่งในมาตรการดังกล่าวก็ครอบคลุมถึงการป้องกันการผูกขาด เพราะการผูกขาดจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เสียประโยชน์ ซึ่งผู้บริโภคในที่นี้ก็หมายถึงชาวอเมริกันนั่นเอง รัฐบาลสหรัฐจึงต้องทำหน้าที่ในการดำเนินการบางอย่าง เพื่อไม่ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาดมากเกินไปจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ หากมองโดยรวมแล้ว เราจะเห็นได้ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของ AT&T มีความเกี่ยวเนื่องกับการผูกขาดการค้าอยู่บ้าง

การควบรวมกิจการครั้งนี้ เป็นความเคลื่อนไหวอีกครั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทั่วโลกที่ยังคงเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นเดิมพันรูปแบบใหม่ที่บริษัทธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายรูปแบบเดิม ๆ อย่าง AT&T ต้องพยายามดิ้นรนเพื่อหาทางรอดต่อไป แต่ทว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคได้เช่นกัน คำถามจึงอยู่ที่ว่า ทิศทางของข้อตกลงนี้จะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป? คำตอบโดยสรุปก็คือ การซื้อควบรวมกิจการครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อบริษัท AT&T ได้ใน 3 รูปแบบ กล่าวคือ ธุรกิจของบริษัทอาจจะพุ่งแรงหากข้อตกลงสามารถนำไปดำเนินการต่อไปได้โดยแทบจะราบรื่นดังเช่นที่ผ่านมา หรือธุรกิจอาจจะถึงทางตันหากรัฐบาลสหรัฐสกัดข้อตกลงดังกล่าวจนล้มไม่เป็นท่า หรือบริษัท AT&T อาจอยู่รอดต่อไปแต่อาจจะไม่ได้รุ่งอย่างที่คาดไว้ ซึ่งอาจมาจากข้อกำหนดและเงื่อนไขบางประการเพิ่มเติมที่รัฐบาลสหรัฐกำหนด

ท้ายสุดนี้ โจทย์สำคัญขั้นต่อไปของ AT&T จึงอยู่ที่ว่า บริษัทจะถูกสกัดดาวรุ่งโดยรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ และ AT&T จะหาทางออกให้กับประเด็นนี้ได้อย่างไร เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องจับตาดูและติดตามสถานการณ์กันต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ