In Focusอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐผวา "ทรัมป์" ดึงฐานการผลิตกลับประเทศ-กีดกันการค้าจีน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 11, 2017 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สหรัฐอเมริกากำลังใกล้เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ขณะที่นายบารัค โอบามา ได้บอกลาตำแหน่งประธานาธิบดี และนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศในวันที่ 20 มกราคม แม้ทรัมป์จะไม่ใช่ผู้นำในฝันของใครหลายคน แต่หลายคนก็ยังวาดฝันว่าเขาจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจประเทศได้ด้วยนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายและลดภาษี และที่สำคัญคือนโยบาย "America First" ที่จะดึงบริษัทเอกชนให้กลับเข้ามาทำธุรกิจในสหรัฐเพื่อกระตุ้นการจ้างงานในประเทศ แต่นโยบายชวนฝันที่ดูเหมือนจะดี กลับกลายเป็นยาขมของอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งแต่ทรัมป์ยังไม่ได้กุมบังเหียนประเทศอย่างเต็มตัวด้วยซ้ำ

ค่ายรถขยาด เมื่อทรัมป์ขยับ

ส่งท้ายปีเก่าได้ไม่กี่วัน ทรัมป์ก็ทำให้ค่ายรถต่างๆต้องผวารับปีใหม่ โดยในวันที่ 3 มกราคม ทรัมป์ได้โพสต์ทวิตเตอร์ขู่ผู้ผลิตรถรายใหญ่ของสหรัฐอย่าง "จีเอ็ม" ว่า "เจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งผลิตรถเชฟวี่ ครูซ ในเม็กซิโก แล้วส่งข้ามพรมแดนมาขายให้ดีลเลอร์ในสหรัฐโดยไม่ต้องเสียภาษี จากนี้ไปถ้าไม่ผลิตในสหรัฐก็เตรียมเสียภาษีก้อนโตได้เลย!"

การเขียนเสือให้วัวกลัวได้ผลอย่างเหลือเชื่อ เพราะในวันเดียวกันนั้นเอง "ฟอร์ด" ได้ออกมาประกาศยกเลิกแผนการจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่มูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ในเม็กซิโก พร้อมประกาศขยายโรงงานในเมืองแฟลทร็อค รัฐมิชิแกน ซึ่งจะช่วยสร้างงาน 700 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี นายมาร์ค ฟิลด์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ย้ำว่า การตัดสินใจดังกล่าวไม่เกี่ยวกับทรัมป์ ถึงอย่างนั้นทรัมป์ก็โพสต์ทวิตเตอร์ขอบคุณฟอร์ด และย้ำว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น จะมีอะไรตามมาอีกเยอะ

จากนั้นในวันที่ 8 มกราคม "เฟียต ไครสเลอร์" ก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการประกาศทุ่มเงินลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์เพื่อขยายโรงงานในโอไฮโอและมิชิแกน ซึ่งจะช่วยสร้างงานได้ราว 2,000 ตำแหน่ง ทั้งยังมีแผนพัฒนาโรงงานเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถผลิตรถรุ่นต่างๆได้เองในสหรัฐ จากเดิมที่ต้องสั่งผลิตจากโรงงานในเม็กซิโก

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ "จีเอ็ม" ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีทางทวิตเตอร์โดยตรง ยืนยันว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กจากเม็กซิโกมายังสหรัฐ โดยแมรี่ บาร์รา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีเอ็ม ระบุว่า การตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานและผลิตรถยนต์นั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว และไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ ขณะเดียวกันจีเอ็มยืนยันว่า รถรุ่นครูซที่ผลิตในเม็กซิโกซึ่งทรัมป์อ้างถึงนั้น มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของรถรุ่นครูซทั้งหมดที่ขายในสหรัฐ โดยส่วนที่เหลือผลิตที่โรงงานในเมืองลอร์ดส์ทาวน์ รัฐโอไฮโอ

ทวีตที่อเมริกา สะเทือนถึงญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้โพสต์ทวิตเตอร์พาดพิงถึงค่ายรถรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นว่า "โตโยต้า มอเตอร์ จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองบาจา ประเทศเม็กซิโก เพื่อผลิตรถรุ่นโคโรลลาส่งมาขายในสหรัฐ อย่าหวัง! ถ้าไม่สร้างโรงงานในสหรัฐก็เตรียมเสียภาษีก้อนโตได้เลย"

ก่อนที่ทรัมป์จะโพสต์ข้อความดังกล่าว นายอากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ได้กล่าวที่กรุงโตเกียวว่า โตโยต้ายังไม่มีแผนจำกัดการผลิตรถยนต์ในเม็กซิโก และจะรอดูจนกว่าทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

จนกระทั่งวันที่ 10 มกราคม นายจิม เลนซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เผยว่า โตโยต้าเตรียมทุ่มเงินลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งครอบคลุมถึงการสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ประจำภูมิภาคอเมริกาเหนือในรัฐเท็กซัส อย่างไรก็ดี นายเลนซ์ยืนยันว่าการตัดสินใจดังกล่าวไม่เกี่ยวกับทรัมป์ พร้อมกันนั้นยังชี้แจงว่า แผนการสร้างโรงงานในเม็กซิโกเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และเป็นการตัดสินใจในระยะยาว

สำหรับ "นิสสัน" ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น และมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ในเม็กซิโก ก็กำลังจับตาดูนโยบายการค้าของทรัมป์อย่างใกล้ชิด โดยนายคาร์ลอส กอส์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นิสสัน มอเตอร์ เผยว่า เขาจะจับตาดูว่านโยบายใหม่ของทรัมป์จะเป็นไปในทิศทางใด มีกฎระเบียบอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบการค้าอเมริกาเหนือ ขณะที่ "มาสด้า" ยืนยันว่าจะยังคงใช้โรงงานในเม็กซิโกเป็นฐานการผลิตหลักต่อไป โดยนายมาซามิจิ โคงาอิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มาสด้า มอเตอร์ เผยว่า เขาจะจับตานโยบายของทรัมป์อย่างใกล้ชิด

ส่วนทางด้าน "ฮอนด้า" ยืนยันว่าโรงงานต่างๆได้เดินสายการผลิตเต็มกำลังแล้ว ดังนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแผนใดๆ ขณะที่นายทาคาฮิโระ ฮาจิโกะ ประธานบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า บริษัทตั้งใจว่าจะผลิตรถในเม็กซิโกต่อไป และหวังว่า ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) จะยังอยู่หลังจากที่ทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่ง

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้ออกมาปกป้องค่ายรถของประเทศ โดยนายฮิโรชิเงะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นต่อไป แม้ว่าจะถูกทรัมป์ขู่ก็ตาม

กีดกันการค้าจีน ดับอนาคตค่ายรถมะกัน

นอกจากการดึงบริษัทเอกชนกลับมาทำธุรกิจในสหรัฐแล้ว อีกหนึ่งนโยบายของทรัมป์ที่อาจสร้างหายนะให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐก็คือ นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งมีโอกาสที่จะก่อตัวเป็นสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจได้ และหากเกิดขึ้นจริง ผู้ที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจากสองค่ายรถยักษ์ใหญ่ของอเมริกาอย่าง "จีเอ็ม" และ "ฟอร์ด" ซึ่งทำธุรกิจกับจีนเป็นมูลค่ามหาศาล อย่างจีเอ็มก็ขายรถในจีนได้มากกว่าในสหรัฐด้วยซ้ำ โดยในปี 2559 จีเอ็มและบริษัทร่วมทุนขายรถได้ถึง 3.87 ล้านคันในจีน และยอดขายรถในจีนก็มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของยอดขายรถทั้งหมดของจีเอ็ม ที่น่าห่วงยิ่งกว่านั้นคือ หากจีนลุกขึ้นมาตอบโต้สหรัฐด้วยมาตรการกีดกันทางการค้าบ้าง ค่ายรถต่างๆคงแทบจะล่มจมกันเลยทีเดียว

ในช่วงปี 2551-2553 อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐเคยประสบกับภาวะถดถอยจนเกือบล่มสลายมาแล้ว แต่ในที่สุดก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ และทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2559 นอกจากนั้นยังมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมกว่า 1.5 ล้านตำแหน่ง และยังมีส่วนในการสร้างตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 5.7 ล้านตำแหน่ง ตอนนี้อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐกำลังไปได้สวย ก็ได้แต่หวังว่าประธานาธิบดีคนใหม่จะไม่ทำทุกอย่างพังด้วยน้ำมือของตัวเอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ