In Focusเจาะลึกเรื่องร้อนๆของโลกร้อน หลัง"ทรัมป์"ฉีกข้อตกลงปารีส ไม่สนทั่วโลกรุมต้าน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday June 7, 2017 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เรื่องใหญ่ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็คือการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" ซึ่งรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ให้ความเห็นชอบ โดยปธน.ทรัมป์ทำตามที่เขาเคยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเขาอ้างว่าความตกลงปารีสได้ทำให้สหรัฐมีความเสียเปรียบจากการที่ต้องแบกรับภาระทางเศรษฐกิจและการเงินจำนวนมาก ดังนั้นการถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว จะทำให้สหรัฐกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ปธน.ทรัมป์แถลงที่ทำเนียบขาวว่า เขาได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของชาวเมืองพิตสเบิร์ก ไม่ใช่ปารีส แต่ก็เปิดช่องว่าสหรัฐอาจเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจ หากสมาชิกของความตกลงปารีสทำการทบทวนเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้สหรัฐเสียผลประโยชน์

การที่ปธน.ทรัมป์ตัดสินใจถอนตัวจากความตกลงปารีส ได้ทำให้สหรัฐอยู่ในกลุ่มเดียวกับซีเรีย และนิการากัว ซึ่งเป็นเพียง 2 ประเทศในโลกที่ไม่ได้เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว

In Focus ในสัปดาห์นี้จะวิเคราะห์เจาะลึกถึงความเป็นมาของความตกลงปารีส, สิ่งที่สหรัฐต้องปฏิบัติภายใต้ความตกลงดังกล่าว, สาเหตุที่ทำให้ปธน.ทรัมป์ต้องการถอนตัวออกมา และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังสหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส

*ความตกลงปารีสคืออะไร

ความตกลงปารีสเป็นข้อตกลงที่ 195 ประเทศทั่วโลกเห็นพ้องกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น, เกิดภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก และนำไปสู่การเกิดพายุที่มีความรุนแรงจำนวนมากขึ้น

นานาประเทศได้เจรจาความตกลงปารีสในปี 2015 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ย.2016 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีความเห็นตรงกันว่าการที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

ทางด้านคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ข้อสรุปว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนับตั้งแต่ช่วงกลางของศตวรรษที่ 20

ความตกลงปารีสมีเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส (3.6 องศาฟาเรนไฮต์) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโลก

*สหรัฐจะต้องทำอะไรภายใต้ความตกลงปารีส

ความจริงแล้ว ความตกลงปารีสไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นข้อผูกมัดต่อประเทศที่ลงนาม แต่เป็นข้อตกลงที่เกิดจากความสมัครใจของประเทศสมาชิก โดยให้แต่ละประเทศเสนอมาเองว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่าใดก่อนถึงปี 2030 โดยมีจะมีการตรวจสอบความคืบหน้าเป็นระยะๆ

อดีตปธน.บารัค โอบามาให้สัญญาว่าสหรัฐจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 26-28% เมื่อเทียบกับปี 2005 ภายในปี 2025

นอกจากนี้ รัฐบาลของโอบามายังได้โอนเงิน 1 พันล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนปกป้องสภาพอากาศแห่งสหประชาชาติ จากที่สัญญาไว้เบื้องต้น 3 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ความตกลงปารีสมีเป้าหมายที่จะระดมทุนให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีผ่านทางภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนจำนวนมาก เนื่องจากได้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับสูงตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา โดยเงินทุนจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะช่วยสนับสนุนกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานสะอาด

*เหตุใด"ทรัมป์"ต้องการให้สหรัฐออกจากความตกลงปารีส

ประการแรก ปธน.ทรัมป์ไม่ยอมรับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมองว่าข้อมูลดังกล่าวเกิดจากการสมรู้ร่วมคิดของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ, นักวิจัย และรัฐบาลต่างๆ โดยเขามักทวีตข้อความ และกล่าวในการรณรงค์หาเสียงว่า เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศถือเป็นเรื่องหลอกลวง โดยมีจีนอยู่เบื้องหลัง แต่ต่อมาปธน.ทรัมป์อ้างว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเพียงการพูดเล่น แต่เขาก็ไม่เชื่อว่าจีนจะสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลตามที่ได้ให้สัญญาไว้

ประการที่สอง ปธน.ทรัมป์เป็นผู้ที่ไม่ไว้วางใจในข้อตกลงระหว่างประเทศที่สหรัฐได้เคยทำไว้ในสมัยของรัฐบาลโอบามา โดยเขามักวิพากษ์วิจารณ์ว่าสหรัฐต้องทำตามข้อผูกมัดมากมาย ขณะที่ได้รับผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย ซึ่งนอกเหนือจากความตกลงปารีสแล้ว ปธน.ทรัมป์ยังได้โจมตีข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) และข้อตกลงองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ว่าได้สร้างความไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ

ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์มักคัดค้านการกำหนดกฎระเบียบ และการจ่ายเงินสมทบของสหรัฐภายใต้รัฐบาลโอบามาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมองว่าสิ่งนี้จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และเขาได้แต่งตั้งนายสก็อตต์ พรูอิตต์ ซึ่งมีแนวคิดไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ของสหรัฐ และได้ชะลอแผนการใช้พลังงานสะอาดของโอบามา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลดการใช้พลังงานถ่านหิน และหันมาใช้พลังงานสะอาด โดยปธน.ทรัมป์ได้ทำการรณรงค์ให้มีการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมถ่านหิน ขณะที่แสดงความไม่พอใจต่อการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานลม

*คาด"ทรัมป์"ถอนตัวแทบไม่มีผลกระทบ เหตุทุกฝ่ายยันเดินหน้าความตกลงปารีส

ถึงแม้การปราศจากสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเงินทุนสนับสนุนโครงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดคิดเป็นวงเงินหลายพันล้านดอลลาร์ แต่ความตกลงปารีสจะไม่ล่มสลายในช่วงข้ามคืนเพียงเพราะว่าปธน.ทรัมป์ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกไป เนื่องจากชาติที่เหลือ เช่น รัสเซีย จีน และสหภาพยุโรป ต่างก็ได้ยืนยันที่จะเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไป ไม่ว่าสหรัฐจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ตาม โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าจีนได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่ให้สัญญาไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนได้ลดการใช้พลังงานถ่านหินเร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองขนาดใหญ่

นายมิเกล เอเรียส กานเยเต ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านพลังงานและการจัดการสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า ความตกลงปารีสจะยังคงเดินหน้าต่อไปแม้สหรัฐได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว

"ยุโรปจะยังคงเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลกต่อไป" นายกานเยเตกล่าวในแถลงการณ์

ด้านนายอีริค โซลเฮม ผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กล่าวว่า การที่ปธน. ทรัมป์ถอนตัวจากความตกลงปารีส จะไม่สามารถหยุดยั้งความพยายามของนานาประเทศที่จะจัดการกับความท้าทายที่เผชิญร่วมกัน

เขาระบุว่า "หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านภาวะโลกร้อนมีความชัดเจนมาก พวกเราต้องลงมือมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง นี่คือความท้าทายระดับโลก และทุกประเทศมีหน้าที่ที่จะดำเนินการและลงมือตอนนี้" พร้อมกล่าวว่า กว่า 190 ประเทศต่างก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานกับประเทศที่มีบทบาทหลักในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เพื่อปกป้องคนในรุ่นนี้และรุ่นต่อๆไป

ทางด้านนายกเทศมนตรีเมืองใหญ่ๆของสหรัฐก็ได้ออกมาแสดงพลังสนับสนุนความตกลงปารีสต่อไป พร้อมกับประกาศว่า พวกเขาจะยังคงยึดมั่นในพันธกิจขององค์กรเครือข่าย "Mayors National Climate Action Agenda - MNCAA" ในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาของความตกลงปารีส แม้ว่าปธน.ทรัมป์ได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว

องค์กรดังกล่าว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Climate Mayors นั้น เป็นเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนายกเทศมนตรี 88 เมืองในสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันกว่า 43 ล้านคนทั่วประเทศ โดยพวกเขาจะทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความพยายามของท้องถิ่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลนานาชาติกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีสอีกด้วย

นอกจากนี้ ในทางเทคนิคแล้ว ปธน.ทรัมป์ไม่สามารถถอนตัวออกจากความตกลงปารีสจนกว่าจะถึงเดือนพ.ย.2019 แต่เขาก็อาจจะเร่งกระบวนการถอนตัวให้เร็วขึ้นด้วยการยกเลิกสนธิสัญญาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศซึ่งเกี่ยวข้องกับความตกลงปารีสที่วุฒิสภาได้ให้การอนุมัติ

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐได้ก้าวข้ามการใช้พลังงานถ่านหินไปสู่ทิศทางของการใช้พลังงานสะอาด ได้ทำให้การประกาศของปธน.ทรัมป์แทบไม่กระทบต่อแนวโน้มดังกล่าว โดยภาคธุรกิจสหรัฐ และรัฐต่างๆก็ได้ยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้ รัฐหลายแห่ง เช่น แคลิฟอร์เนีย ระบุว่าจะกำหนดข้อบังคับในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของทางรัฐขึ้น แม้ปธน.ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส

ส่วนบริษัทเอ็กซอนโมบิล ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ก็ได้คัดค้านการถอนตัวจากความตกลงดังกล่าว

ศาสตราจารย์.เจ. ทิมมอนส์ โรเบิร์ตส์ ที่มหาวิทยาลัยบราวน์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะยังคงสามารถบรรลุเป้าหมายของเรา โดยเทคโนโลยีกำลังทำให้การใช้พลังงานทางเลือกมีความสะดวกรวดเร็วกว่าที่คาดไว้"

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายเตือนว่า การที่สหรัฐถอนตัวออกจากความตกลงปารีส อาจทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาขาดแรงจูงใจที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อไป ซึ่งจะบั่นทอนความพยายามดังกล่าว ก่อนที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นจนแตะระดับวิกฤติ

โดยสรุปแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ในความตกลงปารีสยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าโครงการต่อไป และไม่สนใจต่อการประกาศถอนตัวของปธน.ทรัมป์ โดยมองว่าการถอนตัวของสหรัฐเป็นเพียงอุปสรรคชั่วคราว และหากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ตัดสินใจกลับเข้าร่วมความตกลงปารีสอีกครั้ง ก็จะยิ่งทำให้ความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนประสบผลสำเร็จมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ