รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 5 ณ กรุงจาการ์ตา

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 4, 2011 13:01 —กระทรวงการต่างประเทศ

ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2554 นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยจากส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 5 (5th ASEAN Socio-Cultural Community Council — ASCC) ที่โรงแรม Borobudur กรุงจาการ์ตา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

การประชุม ASCC ครั้งนี้ ให้ความสำคัญต่อหลักการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนหรือ ASCC Blueprint ซึ่งผู้นำประเทศอาเซียนได้ให้การรับรองแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมมิติต่าง ๆ 6 มิติระหว่างกัน คือ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม ความยุติธรรมและสิทธิ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์ของอาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนาระหว่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเดียวกันต่อไปภายในปี พ.ศ. 2558 ในส่วนของประเทศไทยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้แถลงต่อที่ประชุม ASCC ครั้งนี้ เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. ด้านการศึกษา ไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาและเห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนควรส่งเสริมการใช้ภาษาอังกฤษ และการเรียนรู้ภาษาของประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้ประชากรในประเทศอาเซียนสามารถสื่อสาร เรียนรู้และทำความเข้าใจระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

2. ด้านวัฒนธรรม ไทยเน้นความสำคัญของวัฒนธรรมและการศึกษาด้านวัฒนธรรมของอาเซียน การสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ของประเทศอาเซียน โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เสนอให้อาเซียนร่วมกันจัดทำหนังสือประวัติศาสตร์ของประเทศอาเซียน และให้เยาวชนอาเซียนได้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในประวัติศาสตร์ของบรรดาชาติอาเซียนและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน

3. ด้านการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติ (Millennium Development Goals — MDGs) ไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย MDGs ตามแนวทางของสหประชาชาติและของอาเซียน ทั้งนี้ MDGs มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรอบการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การปกป้องและพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี แรงงาน ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถบรรลุถึงเป้าหมาย MDGs ได้ภายในปี พ.ศ.2558

4. ด้านสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการฯ แจ้งที่ประชุมว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจะจัดกิจกรรมวันไข้เลือดออกอาเซียน หรือ ASEAN Dengue Day ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ภายใต้หัวข้อ ‘Big Cleaning Day’ เพื่อมุ่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยการทำงานร่วมกันภายในชุมชน และจะจัดงานดังกล่าวขึ้นทุกปีต่อไป

5. การจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชี้ให้ประเทศอาเซียนเห็นถึงบทบาทนำของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกรณีภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ผ่านมา และคณะผู้แทนไทยได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (ASEAN Humanitarian Assistance and Coordination Centre — AHA Centre) ซึ่งจะตั้งอยู่ที่อินโดนีเซีย โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเตรียมการลงนามความตกลงจัดตั้ง AHA Centre

6. การสนับสนุนด้านงบประมาณ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นความสำคัญของการที่ประเทศสมาชิกจะต้องสนับสนุนงบประมาณหรือจัดตั้งกองทุนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนงานของ ASCC เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. ด้านกีฬา คณะผู้แทนไทยได้หารือกับคณะผู้แทนประเทศอาเซียนอื่น ๆ และที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันกับข้อเสนอให้จัดตั้งกลไกในระดับรัฐมนตรี คือ ASEAN Ministerial Body on Sports เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านกีฬาในประเทศอาเซียน

อนึ่ง ในช่วงเช้าของวันที่ 29 เมษายน 2554 ที่โรงแรม Borobudur รัฐมนตรีว่าการฯ ได้พบหารือสองฝ่ายกับ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้แจ้งให้เลขาธิการอาเซียนรับทราบพัฒนาการล่าสุดของสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา รวมทั้งผลการหารือกับ ดร. มาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปัจจุบันเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 และได้แจ้งให้เลขาธิการอาเซียนทราบถึงท่าทีของไทยที่มุ่งที่จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาโดยวิถีทางการเจรจาโดยสันติวิธีในระดับทวิภาคี โดยได้ย้ำยืนยันว่าฝ่ายไทยไม่เคยเป็นฝ่ายเริ่มต้นการใช้กำลังก่อน แต่จำเป็นต้องป้องกันตนเองเมื่อทหารและพลเรือนไทยถูกโจมตี นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการฯ ได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในกรอบอาเซียน โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม กับเลขาธิการอาเซียนด้วย

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ