การลงนามเอกสารสำคัญระหว่างไทย-จีน

ข่าวต่างประเทศ Monday December 26, 2011 13:45 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ ระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ของนายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลของทั้งสองประเทศ ได้มีการลงนามในเอกสารสำคัญ รวมจำนวน ๖ ฉบับ ดังนี้

๑. หนังสือรับมอบความช่วยเหลืออุทกภัยจากรัฐบาลจีน (Handover Certificate) เป็นเอกสารเกี่ยวกับการรับมอบความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาอุทกภัยในไทย ซึ่งรัฐบาลจีนได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลไทยแล้ว ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

๒. สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ) เป็นสนธิสัญญาที่ช่วยให้ผู้กระทำความผิดของแต่ละฝ่ายสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สังคมของตนได้อย่างสัมฤทธิ์ผล โดยสนธิสัญญาฯ ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่อนุญาตให้ผู้กระทำความผิดได้รับการโอนตัวกลับไปยังประเทศของตนเพื่อรับโทษที่เหลือต่อ ภายหลังจากที่ได้รับโทษจำคุกตามระยะเวลาขั้นต่ำสุดแล้ว ตามที่กฎหมายของรัฐผู้โอนได้บัญญัติไว้ จึงเป็นกรอบความร่วมมือที่จะช่วยกระชับความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมระหว่างไทยกับจีน และเพื่อประโยชน์ของ ผู้ต้องคำพิพากษาของแต่ละฝ่ายบนพื้นฐานของหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายจาง จื้อจุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน

๓. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ใน ๔ สาขา ได้แก่ ๑) การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ — เชียงใหม่ และการพัฒนาระบบรางต่าง ๆ ที่เชื่อมโยง สปป.ลาว ไทย และประเทศกลุ่มอาเซียนอื่น ๒) การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร โดยคำนึงถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิกของจีนในเรื่องนี้ เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำที่สมบูรณ์ ถาวร และสามารถจัดการกับความท้าทาย อาทิ ปัญหาน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้งและเพิ่มประสิทธิภาพของการชลประทาน ๓) การวิจัยพัฒนาพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน โดยเฉพาะในชนบทของไทย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดหาพลังงานราคาถูกได้ด้วย ๔) การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในชนบท เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและอุปกรณ์เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ tablet computer ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายเฉิน เจี้ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน

๔. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางด้านทะเลระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน เป็นบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนเพื่อส่งเสริม เสริมสร้าง และพัฒนาความร่วมมือทางด้านทะเล ทั้งในเรื่องนโยบายทางด้านทะเล การจัดการบริเวณชายฝั่ง และหมู่เกาะชายทะเล การคุ้มครองนิเวศสิ่งแวดล้อมทางทะเล การสำรวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล การบรรเทาและป้องกันภัยพิบัติทางทะเล การสำรวจระยะไกลและดาวเทียมสำรวจมหาสมุทร เทคโนโลยีในการติดตามและเฝ้าระวังมหาสมุทรและมาตรฐานของเครื่องมือที่สร้างขึ้นจากความรู้เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยน ข้อมูลและสารสนเทศทางทะเล เทคโนโลยีด้านชีวพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายหลิว ชื่อกุ้ย อธิบดี (เทียบเท่ารัฐมนตรีช่วยว่าการ) ทบวงกิจการทางมหาสมุทรแห่งชาติจีน (State Oceanic Administration)

๕. แผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างปี ๒๕๕๔ — ๒๕๕๖ เป็นแผนปฏิบัติการฯ ที่กระทรวงวัฒนธรรมไทยและจีนจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเนื้อหาจะครอบคลุมกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินงานในช่วง ๓ ปี ข้างหน้า ทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับในรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญ ศิลปิน บุคคลในแวดวงวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนการจัดแสดงด้านวัฒนธรรม อาทิ ดนตรี เต้นรำ ศิลปะการแสดงต่าง ๆ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนการศึกษาและดูงาน ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นายกว่าน มู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

๖. ความตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบทวิภาคี (Bilateral Swap Agreement) ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางจีน เป็นความตกลงที่แลกเปลี่ยนเงินสกุลหยวนและบาท ระหว่างธนาคารกลางของไทยและจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ลงนามฝ่ายจีน คือ นางหู เสี่ยวเลี่ยน รองผู้ว่าการธนาคารกลางของจีน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ