กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเรื่องการเป็นภาคีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 31, 2013 13:37 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวชี้แจงว่า สืบเนื่องจากที่มีบางกลุ่มเรียกร้องให้ประเทศไทย “ถอนตัวจากการเป็นภาคีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” กระทรวงการต่างประเทศจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะข้อเรียกร้องดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่คนทั่วไปเกี่ยวกับกระบวนการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจสองประเด็น ซึ่งตามข้อเท็จจริง ต้องแยกออกจากกัน คือ

๑. การเป็นภาคีธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ ๙๓ ของกฎบัตรสหประชาติ วรรค ๑ ระบุว่า “สมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยพฤตินัย” ซึ่งหมายความว่า การที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติมีผลให้ไทยเป็นภาคีของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยปริยาย ฉะนั้น ทางเดียวที่ไทยจะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคือไทยต้องถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

๒. การยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ข้อ ๓๖ ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศระบุว่า “รัฐที่เป็นภาคีของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสามารถประกาศรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแบบบังคับเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องมีความตกลงพิเศษ” ซึ่งหมายความว่า รัฐที่เป็นภาคีธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีสิทธิประกาศรับหรือไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ โดยปัจจุบัน ไทยมิได้ประกาศรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จึงไม่มีคดีฟ้องร้องใหม่ อย่างไรก็ดี คดีที่กัมพูชายื่นฟ้องในปัจจุบันเป็นการขอตีความคำพิพากษาในคดีเดิม ซึ่งกัมพูชาได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙) ซึ่งแม้ในขณะนั้น ไทยได้ต่อสู้คดีโดยแย้งว่า ไทยไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้วินิจฉัยว่า ไทยได้ประกาศเมื่อปี ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๐) ว่าจะยอมรับอำนาจศาลต่อไปอีก ๑๐ ปีคือ จากวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๙๓ (ค.ศ. ๑๙๕๐) ถึงวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓ (ค.ศ. ๑๙๖๐) และโดยที่กัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปี ๒๕๐๒ (ค.ศ. ๑๙๕๙) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงวินิจฉัยว่าเป็นช่วงเวลาที่การรับอำนาจศาลของไทยยังมีผลอยู่ ศาลฯ จึงมีอำนาจพิจารณาคดีและได้มีคำพิพากษาออกมาในปี ๒๕๐๕ (ค.ศ. ๑๙๖๒) โดยรัฐบาลในขณะนั้น แม้ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา แต่ได้ตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

ทั้งนี้ ขอย้ำว่า ปัจจุบันประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี คดีที่กัมพูชาได้ยื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน เป็นการขอให้ศาลตีความคำพิพากษาในคดีเดิม ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องสู้คดีอย่างเต็มที่ มิฉะนั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะตีความบนพื้นฐานของหลักฐานและข้อมูลของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียวซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบอย่างแน่นอน

การที่กระทรวงการต่างประเทศออกมาชี้แจงนี้ มิได้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด กระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ให้ครบถ้วนเพื่อให้การดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับการสู้คดี เป็นไปด้วยความโปร่งใสมากที่สุด กระทรวงการต่างประเทศเข้าใจดีว่า ขณะนี้ ฝ่ายต่าง ๆ มีข้อห่วงกังวลและข้อห่วงใยที่แตกต่างกันไปซึ่งถือว่าเป็นสิทธิของกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถแสดงออกถึงข้อห่วงกังวลและข้อห่วงใยเหล่านั้นได้ตามระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ศกนี้ นั้น เป็นเรื่องสำคัญที่การแสดงความคิดเห็นหรือข้อห่วงกังวลควรเป็นไปบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพราะการพิจารณาคดีและคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศย่อมมีผลสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ตลอดจนภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของประเทศไทยในสังคมโลก และยังจะมีผลต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและสุดท้ายมีผลต่อความผาสุขและความเป็นอยู่ของประชาชนไทยและกัมพูชาบริเวณชายแดน ซึ่งต้องการให้มีความสงบเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ