ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ ครั้งที่ ๕ (The 5th GMS Summit)

ข่าวต่างประเทศ Friday December 19, 2014 11:50 —กระทรวงการต่างประเทศ

ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ ครั้งที่ ๕ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อ “ความมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน GMS (Committed to Inclusive and Sustainable Development in the GMS)”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกเข้าร่วม ได้แก่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีลาว นางเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีเมียนมาร์ และนายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม โดpมีนายทาเคฮิโกะ นาคาโอะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย เข้าร่วมการประชุมฯ

แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ (Greater Mekong Subregion – GMS) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อดำเนินความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวม ๙ สาขาหลัก ได้แก่ ๑. การคมนาคมขนส่ง ๒. โทรคมนาคม ๓. พลังงาน ๔. การค้า ๕. การลงทุน ๖. การเกษตร ๗. สิ่งแวดล้อม ๘. การท่องเที่ยว และ ๙. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การประชุมคู่ขนานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (๑) การประชุมด้านการลงทุนของลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Investment Forum) (๒) การประชุมของภาคธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Business Forum) (๓) การประชุมของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partner’s Roundtable) และ (๔) การประชุมของกลุ่มเยาวชนลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Youth Forum) ซึ่งจะมีการรายงานผลการประชุมทั้ง ๔ เรื่อง ต่อผู้นำกลุ่มประเทศ GMS ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๗ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า ๕๐๐ คน

ในการประชุมสุดยอดฯ ผู้นำจะพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการตามกรอบการลงทุนภูมิภาค (Regional Investment Framework Implementation Plan: RIF IP) ซึ่งประกอบด้วยโครงการสำคัญเร่งด่วน ๒๑๕ โครงการ มูลค่ารวม ๕๑,๕๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน ๑๐ สาขา ได้แก่ (๑) การคมนาคมขนส่ง (๒) การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน (๓) พลังงาน (๔) การเกษตร (๕) สิ่งแวดล้อม (๖) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๗) การพัฒนาชุมชนเมือง (๘) การท่องเที่ยว

(๙) โทรคมนาคม และ (๑๐) สาขาอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งและพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามแดน

ในส่วนของประเทศไทย ประกอบด้วย ๗๘ โครงการ มูลค่ารวม ๕,๔๗๕.๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๖ จากโครงการในแผน RIF IP ทั้งหมด โดยโครงการสำคัญของไทย อาทิ โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า ๒,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถนนดังกล่าวจะเชื่อมโยงเส้นทางจากท่าเรือแหลมฉบังของไทย ไปยังเมืองทวายของเมียนมาร์

การลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและการขยายความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยการขยายความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคจะก่อให้เกิดการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างพรมแดนและการเคลื่อนย้ายของแรงงานระหว่างกัน

การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ๖ ประเทศ ครั้งที่ ๕ ที่ประเทศไทย เป็นโอกาสให้ประเทศสมาชิกร่วมพัฒนาแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกว่า ๓๐๐ ล้านคน ให้มีศักยภาพเป็นกลไกผลักดันการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ