ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU)

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 4, 2016 11:07 —กระทรวงการต่างประเทศ

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญลำดับต้นและได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาประมง IUU (Illegal, unreported and unregulated fishing) ผลการดำเนินการมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน สรุปได้ ดังนี้

๑. การปรับปรุงระบบและการบริหารจัดการด้านประมง (System & Management)
  • ครม. มีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการการประมงทะเล (Fisheries Management Plan – FMP) เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๒๕๕๘ เพื่อแก้ไขปัญหา IUU โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การลดขนาดกองเรือประมง โดยนำเรือประมงผิดกฎหมายออกจากระบบ และไม่ให้เรือกลุ่มนี้กลับมาทำประมงได้อีก
  • ในส่วนของมาตรการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) ผลการตรวจเรือของศูนย์ควบคุมการเข้า – ออกของเรือประมง (Port In – Port Out Control Center หรือ PIPO) จำนวน ๒๘ ศูนย์ ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ธ.ค. ๒๕๕๘ ได้ตรวจเรือประมงไปทั้งหมด ๒๕,๔๗๖ ลำ และลูกเรือประมง ๔๗๔,๓๓๔ คน มีการพัฒนาระบบ E-license ในการออกใบอนุญาตทำการประมง ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ รวมทั้งได้ติดตั้งระบบติดตามเรือ (VMS) แล้วทั้งหมด ๒,๐๗๖ ลำ จากทั้งหมด ๒,๒๑๖ ลำ (ร้อยละ ๙๓.๗)
  • มีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลเรือประมงและแรงงานประมง “Fishing Info ๒” เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับทะเบียนเรือประมง เครื่องมือและแรงงานในเรือประมง ฯลฯ การสร้างผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงนอกน่านน้ำ (observers on board) โดยคาดว่าจะเริ่มส่งผู้สังเกตการณ์ลงเรือประมงได้ในเดือน ก.พ. ๒๕๕๙
  • ในส่วนของการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย. ๒๕๕๘ กรมประมงและกรมศุลกากรได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง เรื่อง การควบคุม ตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำนำเข้า ส่งออกและนำผ่าน เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการตรวจสอบการนำเข้า ส่งออก และนำผ่านสินค้าสัตว์น้ำ โดยขณะนี้ได้เริ่มปฏิบัติงานจริงตาม MoU แล้ว
๒. การช่วยเหลือชาวประมงและแรงงานประมง (Assistance)
  • ตั้งแต่ ต.ค. ๒๕๕๗ - ๓ ก.พ. ๒๕๕๙ สอท. ณ กรุงจาการ์ตา ได้ส่งกลับลูกเรือไทยจากอินโดนีเซียแล้ว จำนวน ๑,๗๙๙ คน ตามที่ชาวประมงได้ยื่นเสนอขอความช่วยเหลือจำนวน ๘๗๓ ลำ ขณะนี้ ดำเนินการช่วยเหลือได้แล้วจำนวนกว่าร้อยละ ๗๐
๓. ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ และในระดับภูมิภาค (International Partnership)
  • ประเทศไทยตระหนักดีว่าการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรระหว่างประเทศ ทั้งองค์กรภาครัฐ และองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และภาคีอื่น ๆ ที่มิใช่ภาครัฐ โดยได้มีการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงและด้านแรงงาน ซึ่งได้มีการลงนามหรืออยู่ในขั้นตอนของการเจรจากับหลายประเทศ
  • ปัจจุบัน ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านประมงแล้วกับประเทศฟิจิ และอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก คือ คิรีบาติ โซโลมอน มาแชลส์ไอส์แลนด์ ไมโครนีเซีย ไต้หวัน สเปน และจีน
  • สำหรับด้านแรงงาน ได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมการนำเข้าแรงงานใหม่อย่างถูกกฎหมาย รวมทั้งเร่งรัดการตรวจสัญชาติและออกเอกสารเดินทางให้แก่แรงงานที่ลักลอบเข้าเมืองเพื่อนำเข้าสู่ระบบ ปัจจุบัน ได้มีการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานกับประเทศกัมพูชา และเวียดนามแล้ว และอยู่ระหว่างการประสานงานกับประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว
๔. การปรับปรุงกรอบกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย (Legal Framework and Law Enforcement)
  • การออกกฎหมาย : ได้มีการตรา พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ถือเป็นก้าวสำคัญของการปลดใบเหลือง และเป็นพื้นฐานให้ไทยสามารถให้สัตยาบันความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ ๑๓ พ.ย. ๒๕๕๘ มีผลบังคับใช้เมื่อ ๑๔ พ.ย. ๒๕๕๘ และเมื่อวันที่ ๑๗ ธ.ค. ๒๕๕๘ สนช. มีมติเห็นชอบ พ.ร.ก. การประมงแล้ว ทำให้มีสถานะทางกฎหมายเทียบเท่า พ.ร.บ. รวมทั้งได้มีการตราอนุบัญญัติรองรับ พ.ร.ก. การประมง รวม ๙๐ ฉบับ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับ IUU ๕๒ ฉบับ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน เดือน ก.พ. ๒๕๕๙
  • การแก้ไขปัญหาแรงงาน/การค้ามนุษย์ในภาคประมง : ได้มีการแก้ไขกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ๒๕๕๗ ห้ามใช้แรงงานอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีบนเรือประมง และล่าสุด ได้ออกประกาศห้ามใช้แรงงานต่างด้าวอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำด้วย
  • การบังคับใช้กฎหมาย: ทางการไทยได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายกับเรือประมงที่ทำประมงนอกน่านน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงตามนโยบาย Zero Tolerance โดยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายที่สำคัญ ดังนี้

(๑) ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๔ ม.ค. ๕๙ เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ได้สนธิกำลังเข้าดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยเรือที่กระทำความผิด คือ ก.นาวามงคลชัย ๑ และ ก.นาวามงคลชัย ๘ พบเหยื่อการค้ามนุษย์บนเรือจำนวน ๑๑ คน และ ๔ คน ตามลำดับ

สถานะล่าสุด (๒ ก.พ. ๕๙) ผู้ควบคุมเรือทั้งสองลำถูกฝากขัง และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างสืบพยานเพื่อยื่นฟ้องคดีดำเนินคดี ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับเจ้าของเรือทั้งสองลำแล้ว และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ระนอง ได้เข้าดูแลเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นลูกเรือสัญชาติกัมพูชา จำนวน ๑๕ คนแล้ว

(๒) เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค. ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้ต้องหา ๓ ราย ในข้อหาเป็นเจ้าของเรือประมง จำนวน ๖ ลำ ที่ชักธงไทยออกไปทำประมงในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศ และในทะเลหลวง หรือนำเรือบรรทุกสินค้าประมงห้องเย็นออกไปน่านน้ำต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ศปมผ. และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ ม.ค. ๒๕๕๙ กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศกระทรวงฯ ให้เรือประมงทั้ง ๖ ลำดังกล่าวเป็นเรือประมงที่ถูกใช้ทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เรือ IUU) ตาม พ.ร.ก. การประมง และห้ามใช้เรือกลุ่มนี้ทำการประมงเป็นเวลา ๒ ปี

สถานะล่าสุด (๓๐ ม.ค. ๕๙) เรือหลวงแกลงได้ตรวจและจับกุมเรือประมงนอกน่านน้ำ จำนวน ๒ ใน ๖ ลำดังกล่าว พบการกระทำผิดตาม พ.ร.ก. การประมง และ พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย จึงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ควบคุมเรือและผู้ควบคุมเครื่องของเรือรวม ๔ ราย และจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป อนึ่ง กรมประมงได้แจ้งคณะกรรมการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ตำรวจสากลและประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเรือดังกล่าวแล้ว

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


แท็ก รัฐบาลไทย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ