ผลการสัมมนาในหัวข้อ “หุ้นส่วนร่วมใจ ต้านภัยค้ามนุษย์”

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 8, 2018 13:36 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๗ เมษายน ๒๕๖๑ กระทรวงการต่างประเทศจัดงานสัมมนา “หุ้นส่วนร่วมใจ ต้านภัยค้ามนุษย์” ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมทั้งคณะทูตานุทูตจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมรวมประมาณ ๓๐๐ คน

นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงเปิดงานสัมมนา เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติและได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดพัฒนาการความคืบหน้าทั้งในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้านผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมงานสัมมนา ได้แก่ (๑) นายวันชัย รุจนวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (๒) ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้เสนอรายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการค้าเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่ออนาจารที่เกี่ยวกับเด็ก (๓) นางวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ HUG Project Thailand ซึ่งได้รับรางวัล 2017 TIP Report Hero ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และรางวัล Vital Voices Global Leadership Award for Human Rights ประจำปี ๒๕๖๑ จากสหรัฐฯ (๔) นางสาว Lara White ผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสด้านแรงงานข้ามชาติและการพัฒนามนุษย์ในระดับภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ (๕) ดร. Darian McBain ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนาการอย่างยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถ้อยแถลงที่มีจุดเน้นร่วมกันถึงความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนจากทุกภาคส่วนและทุกระดับในฐานะปัจจัยสำคัญของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งยังมีส่วนส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย และการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ นาย Chris Smith สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา ประธานคณะอนุกรรมาธิการแอฟริกา สาธารณสุขระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน และองค์การระหว่างประเทศ กรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา และ ดร. Jean Baderschneider ประธานบริหารองค์กร Global Fund to End Modern Slavery ของสหรัฐฯ ได้กล่าวถ้อยแถลงผ่านวีดิทัศน์ชื่นชมความพยายามและความคืบหน้าของไทย โดยนาย Smith กล่าวถึงการปรับปรุงและการบังคับใช้กฎหมายที่ดีของไทยในเรื่องการเอาผิดผู้ละเมิดทางเพศต่อเด็ก โดยเฉพาะมาตรการต่อชาวต่างชาติผู้กระทำผิดในเรื่องนี้ ด้าน ดร. Baderschneider ชื่นชมร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในการขจัดการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน โดยเฉพาะภาคธุรกิจกับภาคประชาสังคม โดยหวังจะมีส่วนร่วมเป็นหุ้นส่วนขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์กับไทยในอนาคต

สำหรับการอภิปรายในหัวข้อ “การบังคับค้าประเวณีในผู้หญิงและเด็ก” ได้อภิปรายถึงช่องว่างและข้อจำกัดของความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงหารือเกี่ยวกับแนวทางกระชับและเสริมสร้างการทำงาน การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน เพื่อให้การขจัดการบังคับค้าประเวณีในผู้หญิงและเด็กเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีและประสบการณ์จากศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกแสวงหาประโยชน์แห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป

การอภิปรายในหัวข้อ “แรงงานในภาคประมง” เน้นการทบทวนและประเมินผลการดำเนินการของไทยในระยะที่ผ่านมา ตลอดจนอุปสรรคและข้อจำกัดในการบังคับใช้นโยบายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อขจัดปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์ด้านแรงงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงาน รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการตรวจสอบแรงงาน กระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการป้องกันการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานในภาคประมง

ที่ประชุมได้เวียนร่างเอกสารผลลัพธ์ “Bangkok Call” ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาพิจารณาและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม โดยเอกสารดังกล่าวเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มพูนความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ การเพิ่มงบประมาณ และสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในการดำเนินการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง การปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยปลูกฝังบรรทัดฐานทางสังคมด้านจริยธรรมและสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วัยเยาว์ในโรงเรียน สนับสนุนแนวความคิดที่จะจัดตั้งศูนย์สำหรับเด็กหายและถูกแสวงหาผลประโยชน์แห่งประเทศไทย (TCMEC) ย้ำความสำคัญของการมีแนวปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานในภาคประมง โดยสนับสนุนให้รัฐบาลและบริษัทไทยทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมเพื่อนำแนวปฏิบัติที่ดีมาใช้ในภาคธุรกิจ ทั้งนี้ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญไม่เพียงตอกย้ำความมุ่งมั่นในการจัดการปัญหาตามวาระแห่งชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal – SDGs) ภายในปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ด้วย

ที่มา: กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ