รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 29, 2011 08:40 —กระทรวงการคลัง

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555 “เศรษฐกิจไทยปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าคาด แต่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2555”

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกันยายน 2554 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.3 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าตาม อุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะชะลอลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและ บริการคาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่สูงเกินคาดในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่ม ประเทศยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มอุปสงค์โลกที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกสินค้าและ บริการในปี 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วง ครึ่งปีหลัง ภายหลังจากที่ชะลอลงเนื่องจากได้รับผลกระทบของภัยพิบัติในญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2554 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภาย ในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 — 4.1) เร่งตัวขึ้นจากทั้งต้นทุน ในหมวดอาหารสดที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงและอากาศแปรปรวน และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน ในตลาดโลกเป็นสำคัญ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2555 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคง ขยายตัวได้ ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง และนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้ แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ ขณะที่แรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ แม้ว่าจะยังคงได้รับความเสี่ยงจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8) ตาม อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะชะลอลง”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 และ 2555 (ณ เดือนกันยายน 2554)

                                                                 2553         2554 f                               2555 f
                                                                         (ณ กันยายน 2554)                      (ณ กันยายน 2554)
                                                                               เฉลี่ย               ช่วง               เฉลี่ย               ช่วง
                          สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  4.8           3.2             3.0 — 3.5            3.5             3.0 — 4.0
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           78.2          101           96.0 — 106.0           115           110.0 — 120.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        9.1            7              6.5 — 7.5            7.5             6.5 — 8.5
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        8.1            10            9.5 — 10.5            4.5             3.5 — 5.5
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                31.7          30.5           30.3 — 30.8            30            29.0 — 31.0
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                        2            3.5            3.25 — 3.75           3.75           3.25 — 4.00
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.52          2.81           2.80 — 2.82           2.95           2.93 — 2.96
                        ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                            7.8            4              3.8 — 4.3            4.5             4.0 — 5.0
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                        5.1           3.7             3.2 — 4.2            4.2             3.7 — 4.7
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    4.8           3.9             3.4 — 4.4            4.4             3.9 — 4.9
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                       6.4           2.7             2.2 — 3.2            2.8             2.3 — 3.3
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         9.4           7.4             6.9 — 7.9            8.3             7.8 — 8.8
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    13.8          11.3           10.8 — 11.8           10.9           9.9 — 11.9
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        -2.2          -1.4          -1.9 ถึง -0.9           5.5             4.5 — 6.5
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                14.7          13.2           12.7 — 13.7           5.5             4.5 — 6.5
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                21.5          15.0           14.5 — 15.5           10.3           9.3 — 11.3
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                     14.0          9.5            8.5 — 10.5            6.0             5.0 — 7.0
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           28.5          22.3           21.8 — 22.8           13.7           12.7 — 14.7
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           36.8          26.6           26.1 — 27.1           15.8           14.8 — 16.8
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                14.8          13.5           12.1 — 13.9           9.0            6.9 — 10.9
  - ร้อยละของ GDP                                                 4.6           3.7             3.5 — 4.0            2.2             1.7 — 2.7
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                     3.3           3.8             3.6 — 4.1            3.3             2.8 — 3.8
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                   0.9           2.5             2.3 — 2.8            2.3             1.8 — 2.8
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                         1.0           0.7             0.6 — 0.8            0.7             0.6 — 0.8

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 และ 2555

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2554

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.3 ซึ่งเป็นการขยายตัว ชะลอลงจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.8) ชะลอลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและต้นทุนที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี ภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในส่วนของรายได้ เกษตรกรที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามราคาพืชผลสำคัญ รวมถึงรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ขยายตัวในระดับสูง คาดว่าจะยังคงมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวได้ ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 คาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูง ที่ร้อยละ 13.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.7 — 13.7) เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้า และบริการที่สูงเกินคาดในช่วงครึ่งปีแรก โดยขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 13.9 อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์และการจ้างงานในสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้ม อุปสงค์โลกที่อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด และส่งผลกระทบให้ภาคการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 14.5 — 15.5) ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 10.8 — 11.8) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุน จากการเร่งตัวขึ้นอย่างมากของการลงทุนภาคเอกชนในครึ่งแรกของปี 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.5 ประกอบกับความเชื่อมั่นของภาค ธุรกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2554 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 2.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.2 — 3.2) ชะลอลง เล็กน้อยจากปีก่อนหน้า เนื่องจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2555 จะส่งผลให้การเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เป็นไป อย่างล่าช้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.9 ถึง —0.9) เนื่องจากการเบิกจ่ายงบ ประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีการเบิกจ่ายชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะจากรัฐบาลท้องถิ่นที่หดตัวกว่าร้อยละ -35.2 ทำให้ ในช่วงครึ่งปีแรกการลงทุนภาครัฐหดตัวกว่าร้อยละ -5.9

1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วง คาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 — 4.1 ต่อปี) จากต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในหมวดอาหารสดที่ได้รับแรงกกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงและอากาศแปรปรวน และต้นทุนในหมวดพลังงานที่เร่งขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 — 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชี เดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 13.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 — 4.0 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 8.5 — 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 26.1 — 27.1) ตามราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 22.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ ที่ร้อยละ 21.8 — 22.8)

2. เศรษฐกิจไทยในปี 2555

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ซึ่งได้ รับแรงขับเคลื่อนหลักจากทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะ ขยายตัวร้อยละ 4.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.9 — 4.9) ตามการจ้างงานที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับนโยบายของ ภาครัฐในการสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะ ขยายตัวร้อยละ 10.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.9 — 11.9) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์จากภายในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ ในเกณฑ์ดี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและสนับสนุนให้การลงทุนของเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ แรง สนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ต่างประเทศยังคงได้รับความเสี่ยง จากการเกิดภาวะเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 6.5) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 (โดยมีช่วง คาดการณ์ที่ร้อยละ 9.3 — 11.3) สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2555 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัว ร้อยละ 2.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ ที่ร้อยละ 2.3 — 3.3) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2555 ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 6.5)

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 2.8 — 3.8) ชะลอลงจากปี 2554 อันเป็นผลจากความเปราะบางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่คาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกชะลอลง ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ในตลาดโลก ทั้งนี้ การประมาณการเศรษฐกิจได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะพิจารณาต่ออายุมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพบางส่วนออกไป อีกหลังครบกำหนด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมี ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.6 — 0.8 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อย มาอยู่ที่ 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 — 2.7 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้า ที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.0 — 7.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่ คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 15.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 14.8 — 16.7) ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.7 — 14.7)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง

โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 109/2554 28 กันยายน 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ