รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555 และ 2556 “เศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 และมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2556”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 27, 2012 09:29 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนธันวาคม 2555 ว่า
“เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.7 โดยอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนได้รับแรง
สนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ อาทิ การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก
โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุน
ภาครัฐยังมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกมีการชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการ
ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกในบางสาขา สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากปีที่แล้ว ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น
ในอัตราที่ชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนแอลง ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตรา ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 — 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น และการ ปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูจาก วิกฤตอุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดย เฉพาะการเพิ่มค่าแรงรายวันเป็น 300 บาททั่วทั้งประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว จะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2556 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) โดยอุปทานน้ำมันในตลาดโลกคาด ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชโลกปรับตัวสูงขึ้น”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าจำเป็นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยง ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เช่น ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะปัญหาหน้าผาทางการคลังของ สหรัฐฯ และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทย รวมถึงความ สามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2555 และ 2556 (ณ เดือนธันวาคม 2555)

                                                                 2554          2555 f              2556 f
                                                                          (ณ ธันวาคม 2555)     (ณ ธันวาคม 2555)
                                                                                เฉลี่ย                เฉลี่ย              ช่วง
                          สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                    4            3.5                 3.7             3.2-4.2
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           105.6         109.4                113           108.0-118.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         5.6           0.7                 3.3             2.3-4.3
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        10.1           1.8                 3.5             2.5-4.5
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                30.5           31.1                30.7          29.70-31.70
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       3.25           2.8                 2.8            2.25-3.25
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.77           2.89                3.17           3.12-3.22
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                             0.1           5.7                  5              4.5-5.5
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         1.3           5.8                 3.8             3.3-4.3
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     1.3           5.6                 3.9             3.4-4.4
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        1.1           6.7                 3.5             3.0-4.0
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                          3.3           14.5                10.2           9.2-11.2
    - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                      7.2           16.1                9.2            8.2-10.2
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        -8.7           8.5                  14            13.0-15.0
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 9.5            3                  6.6             5.6-7.6
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                13.7           6.1                 5.6             4.6-6.6
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                      17            9.5                 9.4            8.4-10.4
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           14.3           3.9                  10            9.0-11.0
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                           24.9            8                  10.5           9.5-11.5
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                 5.8            3                  2.1             0.1-4.0
  - ร้อยละของ GDP                                                  3.8           0.8                 0.5             0.0-1.0
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                      3.8            3                   3              2.5-3.5
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                    2.4           2.1                 1.9             1.4-2.4
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          0.7           0.6                 0.6             0.5-0.7

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3273

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2555 และ 2556

1. เศรษฐกิจไทยในปี 2555

1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ราย ได้ภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับภาวะการเงินโดยรวมยั้งเอื้ออำนวยต่อการบริโภค สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัว เรือนในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2555 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะ ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 16.1 เนื่องจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างจะขยายตัวสูง เพื่อเป็นการชดเชยและซ่อมแซม ความเสียหายจากอุทกภัย ประกอบกับผู้ประกอบการมีการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ อุปสงค์ภายในประเทศยังได้รับแรงสนับสนุนของนโยบายภาครัฐ อาทิ การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำ ข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 6.7 และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.5 ตามการใช้จ่ายในโครงการภาครัฐ ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อาทิ การปรับขึ้น เงินเดือนข้าราชการ และ มาตรการในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่เริ่มทยอย ลงทุนได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการของไทยคาดว่าจะชะลอลงมาขยายตัวเพียง ร้อยละ 3.0 เนื่องจากการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่ม ประเทศยูโรโซน ประกอบกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกในบางสาขา นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเกษตร ยังมีแนวโน้มลดลงตามปริมาณการส่งออกข้าว เนื่องจากราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ตาม การส่งออกด้านบริการคาดว่าจะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและ บริการคาดว่าจะเร่งตัวสูงกว่าการส่งออก โดยจะขยายตัวร้อยละ 6.1 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ประกอบกับความต้องการ นำเข้าสินค้าทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของภาคการผลิตจากเหตุการณ์อุทกภัย

          1.2          ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2555 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากปีก่อนหน้า ตาม ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราชะลอลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอลง ประกอบกับ ผลจากแนวทางการดูแลราคาน้ำมันขายปลีกของภาครัฐ นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรในประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงจากปีก่อน จากผลผลิต ทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดในปริมาณที่มากขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลที่ 3.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP เนื่อง จากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามมูลค่าสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะยังคงสูงกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า โดยคาดว่า มูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9

          2.          เศรษฐกิจไทยในปี 2556

2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 14.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.0 — 15.0) อันมีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 2556 ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2556 ที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวดี ขึ้นของเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกมากขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 6.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.6 และ 7.6) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ ร้อยละ 4.6 — 6.6) อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง ภายหลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลัง เหตุการณ์อุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 — 4.4) ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.2 - 10.2) อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือน ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงรายวันเป็น 300 บาททั่วทั้งประเทศและโครงการ รับจำนำข้าว จะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก

2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากคาดว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น จากการที่สหรัฐฯ จะสามารถผลิตน้ำมันเพื่อตอบสนองอุปสงค์ภายในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ ภัยแล้ง และอุทกภัย อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และจะส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาอาหารสัตว์และราคาในหมวดเนื้อสัตว์ให้ปรับตัว สูงขึ้นตาม ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 — 0.7 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเล็กน้อยที่ 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.0 — 1.0 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 9.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 8.4 — 10.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่ง กว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 10.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.5 — 11.5) ขณะ ที่มูลค่าส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.0 — 11.0)

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 141/2555 26 ธันวาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ