รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มกราคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 8, 2014 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มกราคม 2557

Summary:

1. ม. หอการค้าไทยคาด ส่งออกไตรมาส 2 ปี 57 เป็นบวก ทั้งปีโตร้อยละ 4 - 5 ต่อปี

2. BOI เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 56 ต่ำกว่าเป้าหมาย

3. รัฐบาลญี่ปุ่นกระตุ้นให้ภาคเอกชนขึ้นเงินเดือนฝ่าภาวะเงินฝืด

Highlight:

1. ม.หอการค้าไทยคาด ส่งออกไตรมาส 2 ปี 57 เป็นบวก ทั้งปีโตร้อยละ 4 - 5 ต่อปี
  • ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 57 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1 - 5.6 หรือเฉลี่ยร้อยละ 3.8 โดยฟื้นตัวจากปี 56 ที่คาดว่าจะขยายตัวติดลบที่ร้อยละ 0.25 โดยไตรมาสแรกปี 57 คาดว่าจะยังติดลบร้อยละ 1.9 - 1.5 หรือติดลบเฉลี่ยร้อยละ 0.15 โดยติดลบต่อเนื่อง 4 ไตรมาส จากไตรมาสที่ 2 ของปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังอยู่ในระยะเริ่มตันของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากตัวเลขการส่งออกของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 56 หดตัวร้อยละ -0.5 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้า ส่งผลกระทบให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยลดลง ประกอบกับการส่งออกสินค้าหมวดเกษตรกรรม มีแนวโน้มหดตัวจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบอุตสาหกรรมการเกษตร แร่และเชื้อเพลิง เป็นสำคัญ แต่อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้ดี ได้แก่ หมวดยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ประกอบกับตลาดส่งออกหลักเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ตลาดจีน สหรัฐ สหภาพยุโรป และตลาดอาเซียน เป็นสำคัญ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 หดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี สำหรับในปี 57 คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณืที่ร้อยละ 4.5 - 8.5 ) เนื่องจากคาดว่าการส่งออกสินค้าจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ
2. BOI เผย ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 56 ต่ำกว่าเป้าหมาย
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 20 ธ.ค. 56 มียอดขอรับการส่งเสริมรวมทั้งหมด 9.2 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 1.0 ล้านล้านบาท หลังมีหลายปัจจัยที่กระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน โดยนักลงทุนรายใหม่ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมฯ ทั้งหมด อาจชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนทางการเมือง ส่วนแนวโน้มในปี 57 คาดว่า จะมียอดขอรับส่งเสริมฯ ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมีปัจจัยบวกมาจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ยื่นขอลงทุนมากที่สุดประมาณ 600 โครงการ มีเงินทุนจดทะเบียนประมาณ 25 พันล้านบาททั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ ม.ค. - ต.ค.56 พบว่า การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อปี โดยญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ มีสัดส่วนการลงทุนทางตรงจากประเทศสูงสุด อยู่ ที่ร้อยละ 50.4 13.5 12.9 และ 10.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ปี 57 จะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เน้นฐานความรู้หรือการวิจัยและพัฒนาเน้นความสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่จำกัดและจะเน้นไปที่การส่งเสริมธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน ลดข้อจำกัดด้านวัตถุดิบในประเทศ เป็นการขยายตลาดใหม่ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวมในปี 57 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 56) จะขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 - 8.0)
3. รัฐบาลญี่ปุ่นกระตุ้นให้ภาคเอกชนขึ้นเงินเดือนฝ่าภาวะเงินฝืด
  • รัฐบาลญี่ปุ่นได้กระตุ้นบริษัทของญี่ปุ่นให้ขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อลดผลกระทบหลังขึ้นภาษีการขายจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนความมั่นคงในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับกลุ่มผู้สูงวัยของญี่ปุ่น ขณะที่ผู้บริหารและสหภาพแรงงานมีกำหนดที่จะเริ่มการเจรจา เรื่องค่าแรงประจำปีในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ขอให้บริษัทชั้นนำอย่างโตโยต้า มอเตอร์ นำรายได้มาสนับสนุนให้มีการขึ้นเงินเดือนในครั้งนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันแรงงานญี่ปุ่นได้รับเงินเดือนเฉลี่ยเท่ากับ 276,601 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงงานที่ประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมไฟฟ้า แก๊สความร้อนและประปาเป็นอาชีพที่ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุดที่ 443,598 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร และภาคการเงินและการประกันภัย ที่ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ 407,226 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 371,445 เยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเงินเดือนของแรงงานญี่ปุ่นปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอัตราค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 56 พบว่าปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -1.4 ซึ่งการปรับเพิ่มภาษีการขายจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 จะทำให้กำลังซื้อของแรงงานลดลง ดังนั้น การที่รัฐบาลญี่ปุ่นกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับเพิ่มเงินเดือนนั้นน่าจะช่วยลดผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีการขายได้บางส่วน

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ