รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 13:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 เมษายน 2557

Summary:

1. ทิสโก้หวังมีรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 2.5

2. กสิกรไทยคาดสงกรานต์คนกรุงปีนี้ เม็ดเงินจับจ่ายหดตัวร้อยละ -13.7 เหตุค่าครองชีพ-การเมืองฉุด

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน มี.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.0

Highlight:

1. ทิสโก้หวังมีรัฐบาลใหม่ภายในครึ่งปีหลัง ช่วยหนุนจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 2.5
  • นายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีนี้คงจะหดตัวตามที่หลายฝ่ายคาด แต่เศรษฐกิจไทยทั้งปีคาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.5 ภายใต้เงื่อนไขว่าจะมีรัฐบาลใหม่ในครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งหากการเมืองคลี่คลายโดยเร็ว จีดีพีมีโอกาสเติบโตได้ถึงร้อยละ 3 แต่กรณีเลวร้ายสุดคือ ไม่มีรัฐบาลใหม่ในปีนี้ จีดีพีจะโตร้อยละ 2 ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้น้อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุน และนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสะท้อนจากการส่งออกในเดือน ก.พ. ที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี เป็นการปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 57 อย่างไรก็ดี เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 2.0 อัตราการว่างงานล่าสุด (เบื้องต้น) ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม กอปรกับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับที่มั่นคง จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.พ. 57 อยู่ในระดับสูงที่ 168.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2.8 เท่าเมื่อเทียบกับหนี้ต่างประเทศระยะสั้น) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1-3.1)
2. กสิกรไทยคาดสงกรานต์คนกรุงปีนี้ เม็ดเงินจับจ่ายหดตัวร้อยละ -13.7 เหตุค่าครองชีพ-การเมืองฉุด
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 57 โดยคาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศอยู่ที่ 22,000 ล้านบาท หดตัวถึงร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 5 ปี แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเป็นเพราะจำนวนวันหยุดที่น้อยกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยคือ ผลจากภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และความกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อและยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายลดลง เกิดความยากลำบากในการเดินทาง และไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 มีสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ระดับ 59.7 ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 12 ปี โดยมีปัจจัยสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน ก.พ. 57 กลับมาหดตัวที่ร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในปี 57 ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มการทยอยปรับเพิ่มขึ้นของราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนที่อาจส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าประเภทอื่นโดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูป รวมทั้งแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงและค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้การนำเข้าน้ำมันมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจผลักดันให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นและส่งผ่านแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 57 โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ ในปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.8-2.8 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57)
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน มี.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.0
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน มี.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 53.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินเบื้องต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยังคงสูงกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของภูมิภาคยังขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคการผลิตของยูโรโซนฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน โดยดัชนี PMI ของภูมิภาคยูโรโซนได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการผลิตของฝรั่งเศสที่พลิกกลับมา ขยายตัวอีกครั้ง โดยดัชนีภาคการผลิตของประเทศสมาชิกรายใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลีและสเปน ต่างก็อยู่ในภาวะที่มีการเติบโต แม้ว่า เยอรมนีจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวแตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนก็ตาม อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 12.0 ของกำลังแรงงาน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางยุโรปที่ตั้งไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 2.0 โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่าต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 56 สร้างความกังวลว่ายูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ในปี 57 (คาดการ์ณ ณ เดือน มี.ค. 57)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ