รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 เมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 22, 2014 15:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 เมษายน 2557

Summary:

1. ห่วงการเมืองฉุดความเชื่อมั่นเอกชนทรุดหนัก

2. ยอดขายอสังหาฯ ไตรมาส 1 ปี 57 ร่วงร้อยละ 42

3. ยอดส่งออกญี่ปุ่นชะลอตัวลงมากในเดือน มี.ค. 57 ทำให้ขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21

1. ห่วงการเมืองฉุดความเชื่อมั่นเอกชนทรุดหนัก
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ ส.อ.ท. ยอมรับว่า มีความกังวลกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ เนื่องจากจะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งกปปส. และ นชป. ซึ่งหากมีการเผชิญหน้าและเกิดความรุนแรงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะต่อไปได้ ทั้งนี้ปัญหาการเมืองยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอุตสาหกรรมปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ได้ลดลงต่ำสุดในรอบ 56 เดือน มาอยู่ที่ 85.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 57 คาดว่าจะปรับตัวลดลงอีกเล็กน้อยไปอยู่ที่ระดับ 85.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.7 จากการที่ผู้ประกอบการได้ให้น้ำหนักทางปัจจัยทางการเมืองซึ่งเป็นปัจจัยลบในเดือน ก.พ. ที่ร้อยละ 75.3 เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.ที่ร้อยละ 72.0 อย่างไรก็ตาม สศค. คาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) จากแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. ได้ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ คาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 57 ว่าจะอ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในปี 56 ที่ 30.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก
2. ยอดขายอสังหาฯ ไตรมาส 1 ปี 57 ร่วงร้อยละ 42
  • ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ว่าได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาทางการเมือง จนส่งผลกระทบต่อยอดขายอสังหาริมทรัพย์ โดย 3 เดือนแรกของปี 57 มีจำนวนหน่วยขายรวม 20,433 หน่วย ลดลงประมาณร้อยละ -42 คิดเป็นมูลค่ารวม 56,478 ล้านบาทหรือลดลงประมาณร้อยละ 43
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอสังหาฯ ในปี 57 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีปัจจัยลบที่หลากหลายในปีนี้ ได้แก่ 1. การขาดเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย 2. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวแบบเปราะบาง และ 3. ภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดในไตรมาส 4 ปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 82.3 ของ GDP ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อโดยรวมของประเทศ รวมถึงกำลังซื้อของภาคอสังหาฯ และเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคอสังหาฯ ทั้งนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสะท้อนได้จากรายได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ พบว่าล่าสุดในเดือน ก.พ. 57 หดตัวร้อยละ -3.8 และปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศก็หดตัวเช่นเดียวกัน โดย ในเดือน มี.ค. 57 หดตัวร้อยละ -3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาฯ ในปีนี้มีเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.50 - 2.50 ต่อปี คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
3. ยอดส่งออกญี่ปุ่นชะลอตัวลงมากในเดือน มี.ค. 57 ทำให้ขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21
  • ยอดส่งออกญี่ปุ่นขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ในเดือน มี.ค. 57 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ทำให้เกิดความกังวลว่าการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศอาจไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการปรับขึ้นภาษีตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ส่วนยอดนำเข้าพุ่งขึ้นร้อยละ 18.1 ในเดือน มี.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.2 ส่งผลทำให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าเดือนล่าสุดเท่ากับ 1.4 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1 หมื่น 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากเคยทำสถิติยอดขาดดุลการค้าสูงสุดที่ 2.7 ล้านล้านเยนในเดือน ม.ค. ทั้งนี้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้านาน 21 เดือนติดต่อกันแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง แต่ทางธนาคารกลางหรือ BOJ กลับยังส่งสัญญาณว่าจะไม่ออกมาตรการผ่อนคลายใดๆ ออกมาเพิ่ม โดยยืนยันว่าเศรษฐกิจยังมีทิศทางการขยายตัวตามคาดด้วยเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดส่งออกที่ชะลอตัวลงดังกล่าวต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่าการส่งออกเดือน มี.ค.จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 และชะลอตัวลงอย่างมากจากยอดส่งออกในเดือน ก.พ. ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้ขยายตัวในระดับปกติ และจะมีส่วนช่วยคลี่คลายภาวะเงินฝืดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบของการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มและมาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงไม่ชัดเจนในรายละเอียดในเวลานี้ โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8-1.8 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57) ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ยังคงต้องจับตามองคือ ผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มต่ออุปสงค์ในประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยอาจจะมีส่วนทำให้การขยายตัวของญี่ปุ่นไม่เป็นไปตามคาดและอาจจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าจากไทยไปญี่ปุ่นได้ ทั้งนี้ ช่วง 2 เดือนแรกของปี 57 การส่งออกสินค้าของไทยไปญี่ปุ่นยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 2.3

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ