รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 9, 2014 11:16 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2557

Summary:

1. คาดการส่งออกอาหารในปี 57 ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0

2. ธปท. ระบุ คสช.ตรึงราคา LPG ลดความเสี่ยงเงินเฟ้อได้

3. S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ ไว้ที่ AA+

1. คาดการส่งออกอาหารในปี 57 ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0
  • ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกอาหารในปี 57 คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 หรือมูลค่ารวมกว่า 9.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะขยายตัวได้ในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป โดยมีตลาดหลักอยู่ที่อาเซียนที่มียอดส่งออก 2-3 แสนบาทต่อปี รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นที่มียอดส่งออก 1.4 แสนบาท นอกจากนี้ สถาบันอาหารจะเร่งเพิ่มการส่งออกอาหารแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และให้สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกอาหารในปี 57 มีแนวโน้มสดใส ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวจากเศรษฐกิจถดถอยในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญๆ อื่น อาทิ ญี่ปุ่นและอาเซียนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย สำหรับการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารนั้น พบว่าในช่วง 4 เดือนแรกปี 57 การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ค่อนข้างโดดเด่น โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกกุ้งในปี 57 คาดว่าจะยังคงหดตัวต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกปี 57 การส่งออกกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งรวมหดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -20.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด
2. ธปท. ระบุ คสช.ตรึงราคา LPG ลดความเสี่ยงเงินเฟ้อได้
  • นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สั่งตรึงราคาก๊าซแอลพีจี ว่า การตรึงราคาดังกล่าวจะช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจสูงกว่าประมาณการเดิม แต่ราคาอาหารสำเร็จรูปอาจยังปรับเพิ่มขึ้นต่อไปอีกระยะ เพราะผู้ประกอบการมักทยอยปรับขึ้นราคา เพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นก่อนหน้านี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ตามการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบตามราคาในหมวดอาหารสด (ผักผลไม้ และปศุสัตว์) ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคนอกบ้าน) มีราคาเพิ่มสูงขึ้นจากการทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ มาตรการตรึงราคา LPG ภาคครัวเรือน โดยใช้ราคาจำหน่าย ณ เดือน พ.ค. 57 ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะช่วยบรรเทาอัตราเงินเฟ้อได้ โดยหมวดไฟฟ้า เชื้อเพลิง น้ำประปาและแสงสว่าง และหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารมีสัดส่วนน้ำหนักปีฐานถึงร้อยละ 4.9 และ 25.5 ของตะกร้าเงินเฟ้อตามลำดับ โดยสศค. คาดว่าหากราคา LPG ลดลง 1 สตางค์ต่อกิโลกรัมจะลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อร้อยละ 0.12 นอกจากนี้ สศค. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ 1.5 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57)
3. S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ ไว้ที่ AA+
  • หน่วยงานจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ประกาศอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไว้ที่ระดับ AA+ ซึ่งถือเป็นอันดับสองรองจาก AAA หรือระดับความน่าเชื่อถือสูงสุด โดย S&P ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงพื้นฐานที่แข็งแกร่งกระจายตัวในหลายสาขา อย่างไรก็ตาม S&P ยังมองว่าสหรัฐฯ มีความเสี่ยงด้านภาครัฐเป็นข้อจำกัด ได้แก่ หนี้รัฐบาลและการขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูงประกอบกับแนวทางการดำเนินนโยบายรัฐที่มีลักษณะของการแบ่งขั้วชัดเจนเป็นอุปสรรคและสร้างความล่าช้าแก่การดำเนินนโยบายสำคัญ ด้วยความเสี่ยงดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถได้รับการจัดอันดับที่ AAA จาก S&P ได้เหมือนในช่วงก่อนปี 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้กลับสู่การฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังข้อมูลเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิต การบริโภค และการจ้างงานที่ประกาศออกมาได้สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างสอดคล้องกัน สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 57 นี้จะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 (เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.9) และจะเติบโตเร่งขึ้นอีกในปี 58 ที่ร้อยละ 3.0 นั่นทำให้พื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นถึงกลางจะมีความแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาระด้านการคลังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในระยะกลาง เนื่องจากยังไม่เห็นแนวทางการลดการขาดดุลทั้งด้านการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายเพิ่มเติมในระยะดังกล่าวแม้ว่าในระยะสั้นจะมีการคลายความกังวลลงชั่วคราว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ