รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 15, 2014 14:30 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. นายจ้างซมหนัก จ้างงานลดฮวบ

2. เงินบาทปิด 32.11-32.12 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าในรอบ 5 เดือน

3. ญี่ปุ่นปรับเพิ่มสถิติผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.7

1. นายจ้างซมหนัก จ้างงานลดฮวบ
  • กรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยสถานการณ์แรงงานของสถานประกอบการในเดือน มิ.ย.57 พบว่า ความต้องการแรงงานลดลง โดยผู้ประกอบการแจ้งจำนวนตำแหน่งงานว่างมีจำนวน 27,408 อัตรา ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 7,929 อัตรา หรือลดลงร้อยละ 22.4 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่า ลดลง 36,272 อัตรา หรือลดลงร้อยละ 56.7
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความต้องการแรงงานที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน ทำให้ผู้ประกอบการลดจำนวนการจ้างพนักงานลง ประกอบกับปัจจัยฐานการคำนวณที่สูงในช่วงเดียวกัน สอดคล้องกับอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในเดือน พ.ค. คิดเป็นจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น 8.6 หมื่นคน อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์ด้านแรงงานจะปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 2.1-3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ มี.ค.57 และ สศค. จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ก.ค. 57)
2. เงินบาทปิด 32.11-32.12 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าในรอบ 5 เดือน
  • นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดเย็นวันที่ 14 ก.ค. 57 ที่ระดับ 32.11-32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบจากตอนเช้าวันดังกล่าวที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.15-32.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าต่อเนื่องจากช่วงเช้าและจากที่ปิดตลาดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากเงินทุนไหลเข้า ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร โดยเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 3,000 ล้านบาท และตลาดตราสารหนี้กว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยมองแนวรับไว้ที่ 32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่ 32.11-32.12 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้นเป็นระดับที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 57 โดยค่าเฉลี่ยค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 32.55 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเฉลี่ยของปีนี้ยังคงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปี ที่แล้ว แต่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่ง สศค. ได้มีการประมาณการค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 57 ไว้ที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ มี.ค. 57 แต่จะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง ณ สิ้นเดือน ก.ค. นี้) ซึ่งค่าเงินบาทเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วนั้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อมูลค่าการส่งออกในรูปค่าเงินบาทให้ขยายตัวได้ โดยที่ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 32.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้นจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทของ 5 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่า 2.99 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน
3. ญี่ปุ่นปรับเพิ่มสถิติผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 0.7
  • กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ในเดือน พ.ค. 57 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากระดับเดือน เม.ย.57 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มตัวเลขให้สูงขึ้นจากรายงานก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน พ.ค. 57 สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน มิ.ย. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.5 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวเกินกว่าระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสะท้อนถึงกิจกรรมภาคการผลิตที่ส่งสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตามในเดือน พ.ค. 57 มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ร้อยละ -2.7 และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ร้อยละ -3.6 ซึ่งหดตัวจากเดือน เม.ย.57 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ทั้งนี้อาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบของการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม และสต็อกสินค้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากระดับก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 นอกจากนี้เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ