รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 25, 2014 11:08 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. กรุงไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้น เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุด

2. GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. มูลค่าการส่งออกของฮ่องกงเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 เดือน

1. กรุงไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจฟื้น เชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุด
  • นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจ ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจกรุงไทย (KTBI) ประจำไตรมาสที่ 2/2557 ซึ่งสำรวจจากนักธุรกิจกว่า 2,300 รายทั่วประเทศ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่น เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.52 จุด มาอยู่ที่ระดับ 51.03 จุด ในไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส สะท้อนความคาดหวังของนักธุรกิจที่คาดว่าภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจจะฟื้นตัวหลังปัญหาทางการเมืองที่กดดันต่อเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้าได้ผ่อนคลายลง อีกทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังได้ประกาศนโยบาย และมาตรการเศรษฐกิจที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น การตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร การต่ออายุ VAT 7% การคงอัตราภาษีนิติบุคคลในอัตรา 20% การส่งเสริม SME ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และการเร่งจัดทำงบประมาณปี 2558 ให้ทันเวลา เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจของกรุงไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวในด้านต่างๆ เช่น ด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนในยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน พ.ค. 57 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากเดือนก่อนที่หดตัวที่ร้อยละ -1.2 ตามการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤษภาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 60.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น ตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ผลิต ล่าสุดในเดือน มิ.ย. 57 อยู่ที่ระดับ 88.4 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ระดับ 85.1 จุด โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก อันเป็นผลจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
2. GDP เกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ทั้งนี้ เป็นผลจากการอุปสงค์ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศที่ขยายตัวชะลอตัว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า GDP ของเกาหลีใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 57 ขยายตัวชะลอลง เป็นผลจากทุกส่วนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออก ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโครงสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้ (คิดเป็นร้อยละ 57.1 ของ GDP ปี 56) ที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ อันเป็นผลจากการส่งออกไปยังจีนคู่ค้าอันดับ 1 (สัดส่วนการส่งออกไปจีนคิดเป็นร้อยละ 26.1 ของการส่งออกทั้งหมด) ในไตรมาสที่ 2 ปี 57 ที่หดตัวร้อยละ -2.8 ประกอบกับด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภคทั้งภาคเอกชน (ร้อยละ 49.3 ของ GDP ปี 56) และการใช้จ่ายภาครัฐ (คิดเป็นร้อยละ 14.4 ) ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 และ 1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 และ 2.9 ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.4 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจาก GDP ไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามเป้าหมายที่ทางการจีนกำหนดไว้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้อาจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้
3. มูลค่าการส่งออกของฮ่องกงเดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกง รายงานมูลค่าการส่งออกของฮ่องกง เดือน มิ.ย. 57 ขยายตัวร้อยละ 11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกไปจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 13.9 ขณะที่มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 7.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 เช่นกัน จากการนำเข้าเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยสรุป ดุลการค้า เดือน มิ.ย. 57 ขาดดุล 43.1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่มูลค่าการส่งออกของฮ่องกงขยายตัวเร่งขึ้นอย่างมากเช่นนี้ เกิดจากการส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของฮ่องกง (การส่งออกไปจีนคิดเป็นร้อยละ 54.8 ของการส่งออกทั้งหมด)สำหรับฮ่องกงที่มีภาคการส่งออกเป็นกลไกหลักของเศรษฐกิจ (คิดเป็นร้อยละ 233.1 ของ GDP )การที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากการบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัว สะท้อนจากล่าสุดยอดค้าปลีก เดือน พ.ค. 57 ที่หดตัวร้อยละ -4.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -9.8 จากยอดขายอัญมณีและเครื่องประดับที่หดตัวถึง -24.5 จึงควรเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ