รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 28, 2014 13:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2557

Summary:

1. พาณิชย์ควงเอกชนเร่ขายข้าว

2. หอการค้าไทยคาดส่งออกปี 57 โตร้อยละ 2.0 - 3.0

3. ความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซีย ดันราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง

1. พาณิชย์ควงเอกชนเร่ขายข้าว
  • นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมได้หารือร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อหามาตรการรองรับผลผลิตข้าวเปลือกนาปีฤดูกาล 57/ 58 ซึ่งเป็นข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ที่จะออกในเดือน ต.ค.57 โดยเห็นร่วมกันว่าภาครัฐและเอกชนจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการหาตลาดส่งออก และไปเจรจาขายข้าวในต่างประเทศมารองรับผลผลิตของประเทศ เป้าหมายหลักที่จะเข้าไปเจรจาขายข้าวมี 4 ประเทศ คือ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อข้าวสำคัญของไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนของปี 57 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน มีมูลค่าอยู่ที่ 430.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกข้าวไปยังประเทศเบนิน (ขยายตัวร้อยละ 44.6) จีน (ขยายตัวร้อยละ 232.2) และไนจีเรีย (ขยายตัวร้อยละ 252.2) ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 57 เนื่องจากเป็นการกระจายตลาดส่งออกข้าวได้ดีขึ้น และสนับสนุนภาคการส่งออกไทยให้สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 57
2. หอการค้าไทยคาดส่งออกปี 57 โตร้อยละ 2.0 - 3.0
  • ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกในปี 57 คาดว่าจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 2-3 โดยคาดว่าไตรมาส 3 การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ส่วนไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 เนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศมีความสงบเกิดการจ้างงานเพิ่ม ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นที่จะประกอบธุรกิจ ขณะที่ประชาชนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่กดดันการส่งออกไทยในปี 57 ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจ คู่ค้าหลักยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่นมีทิศทางชะลอตัวลง ขณะที่สหรัฐฯ มีประเด็นปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการค้ากับไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 57 มูลค่าส่งออกสินค้าหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น และอาเซียน 5 ซึ่งมีสัดส่วนรวมร้อยละ 39.2 ของมูลค่าการส่งออกรวมไทย หดตัวร้อยละ -5.6 -1.7 และ -8.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป 15 และกลุ่มอินโดจีน ขยายตัวร้อยละ 1.1 6.4 และ 4.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 57 มูลค่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป 15 ที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงตลาดอินโดจีน (CLMV) ที่เป็นตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญของไทยในการพยุงภาคการส่งออกได้
3. ความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซีย ดันราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง
  • ความขัดแย้งกรณียูเครน-รัสเซียกลับเข้ามามีผลต่อราคาน้ำมันดิบอีกครั้ง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือน ก.ย. ปรับเพิ่มขึ้นมาปิดที่ระดับ 108.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อันเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ จากกรณีการคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ยังคงมีผลต่อเนื่อง และกรณีการตกของเครื่องบินสายการบินมาเลเซียนแอร์ไลน์ในยูเครนที่ถูกยกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการกดดันทางการเมืองต่อรัสเซีย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นปัจจัยในการดันราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา มี 2 เหตุการณ์หลักๆ ได้แก่ เหตุการณ์ในอิรักที่เกิดจากกลุ่มกบฎภายในประเทศ และเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่เกิดจากกรณีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเหตุการณ์แรกส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบทั่วโลกอย่างชัดเจนในช่วงระหว่างเดือน มิ.ย. ถึงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แต่หลังจากเริ่มมีการเจรจาเหตุการณ์จากอิรักจึงลดทอนผลกระทบต่อราคาน้ำมันลงตามลำดับ ขณะที่ความขัดแย้งในรัสเซียซึ่งเคยส่งผลกระทบในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้กลับขยายวงกว้างไปเป็นกรณีการเมืองระหว่าง 2 ขั้วมหาอำนาจ คือ สหรัฐฯ (รวมกับยุโรป) และรัสเซีย จนกระทั่งเริ่มมีการคว่ำบาตรที่ยังคงยืดเยื้อจากเหตุการณ์ล่าสุดและท่าทีของชาติตะวันตกในปัจจุบัน ทำให้คาดว่าเหตุการณ์กรณียูเครน-รัสเซียนี้จะกลับมาเป็นปัจจัยผลกระทบที่สำคัญต่อราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม สศค. ประเมินว่าเหตุการณ์ในอิรักจะมีผลกระทบน้อยลงมากในช่วงหลังจากนี้ ด้านปัจจัยพื้นฐานด้านกำลังการผลิตและความต้องการน้ำมันโลกยังคง ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม สศค. จึงปรับการคาดการณ์น้ำมันในปี 57 นี้จาก 105 ขึ้นเป็น 106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากปัจจัยการเมืองกรณีดังกล่าวเป็นสำคัญ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ